วิถีคนกับสายน้ำ | ซีรีส์วิถีคน

Описание к видео วิถีคนกับสายน้ำ | ซีรีส์วิถีคน

แม่น้ำสะแกกรัง ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี มีชุมชนชาวแพที่มีวิถีชีวิตผูกพันสายน้ำแห่งนี้ ชาวแพมีอาชีพทำประมงน้ำจืด เลี้ยงปลาในกระชัง เช่น ปลาสวาย, ปลาแรด และปลาเทโพ นอกจากนี้ชาวแพก็ยังจับปลาจากในแม่น้ำสะแกกรัง หรือแหล่งน้ำอื่น ๆ มาทำเป็นปลาแห้ง, ปลาเค็ม แล้วนำไปขายในตลาด เป็นรายได้ให้กับครอบครัว นอกจากนั้นยังมีการปลูกพืชผักลอยน้ำ เช่น เตย เป็นต้น เรือนแพเป็นทั้งบ้านอันอบอุ่นและที่ทำมาหากินเลี้ยงชีพของชาวบ้าน ความเป็นอยู่ของคนที่นี่สงบสุข เรียบง่าย สามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ทุกเรื่อง คนดังของที่นี่มีหลายคน เช่น

คนที่ 1 "ป้าแต๋วปลาย่างรมควัน" นางศรีวภา วิบูรณ์รัตน์ หรือ ป้าแต๋ว อายุ 65 ปี หนึ่งในชุมชนชาวแพแม่น้ำสะแกกรังที่อาศัยสายน้ำแห่งนี้เลี้ยงชีวิตมายาวนาน ยังคงดำเนินวิถีชีวิตย่างปลาด้วยข่าไม้ย่างปลาแบบโบราณในเรือน เป็นการสืบสานภูมิปัญญาแปรรูปปลาจากรุ่นสู่รุ่น กรรมวิธีการทำต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ใช้ปลาเนื้ออ่อน, ปลาเกร็ด, ปลาดุก, ปลาช่อน ข่าย่างปลามีขนาดกว้าง 3 ศอก ยาว 10 ศอก (1.5 x 5 เมตร ) ทำจากไม้ย่างปูพื้น ใช้สังกะสีกรุไม้กระดานรอบ ๆ ก่อน เอาดินละเอียดใส่พื้นข่าให้แน่นและหนา ใช้ขี้เลื่อยไม้เป็นเชื้อเพลิงในการย่าง โดยนำปลาวางลงบนตะแกรง ใช้เสื่อลำแพนสานจากไม้ไผ่คลุมปิดทับ ย่างด้วยไฟอ่อนไปเรื่อย ๆ นาน 3 - 4 วัน จนเนื้อปลาแห้ง เบากรอบ แต่ระหว่างนั้นให้กลับปลาเพื่อจะได้สุก และสีเสมอกัน

คนที่ 2 "ป้าเทือง ผู้เสียสละแพให้กับนกกวัก" ประเทือง แจ่มโต หรือ ป้าเทือง อาศัยอยู่ในเรือนแพตั้งแต่กำเนิด คุ้นเคยกับธรรมชาติรอบ ๆ ตัว มีความผูกพันกับสายน้ำและสัตว์ในธรรมชาติ อย่างครอบครัวนกกวัก ป้าเทืองแบ่งแพให้อยู่อาศัย 1 แพ เรือนแพที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่นี่ต้องซ่อมทุก ๆ 4 ปี การซ่อมแซมแพนี้เป็นความสามารถเฉพาะตัว ต้องอาศัยคนที่เชี่ยวชาญ ความรู้การซ่อมแพเป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อกันรุ่นต่อรุ่น ในส่วนของวัสดุที่เป็นไม้ ที่นำมาสร้างและซ่อมแซมเรือนแพก็มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจพูดได้ว่าค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตอยู่บนเรือนแพนั้นแพงกว่าที่จะขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนบก สาเหตุนี้ทำให้ชาวเรือนแพบางส่วนย้ายขึ้นไปอยู่บนบกกันมากขึ้น ปัจจุบันนี้มีการคุมกำเนิดเรือนแพไม่ให้มีการสร้างเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการสิ้นสุดของชุมชนเรือนแพที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในอนาคต

ที่วัดเกริน ตำบลบางกะดี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี มีชุมชนคนเรืออาศัยอยู่บนเรือประมาณ 8 ครอบครัว อาศัยริมแม่น้ำนี้มานานกว่า 30 ปี โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสที่วัดแห่งนี้ ทั้ง 8 ครอบครัวนี้สนิทสนมกันเป็นอย่างดี เพราะอยู่ร่วมกันมานาน เวลาที่วัดมีงานอะไร ทั้ง 8 ครอบครัวก็จะร่วมมือกันช่วยเหลือ

ทุกครอบครัวประกอบอาชีพรับจ้างขนทรายโดยใช้เรือที่เรียกว่า "เรือโป๊ะ" เป็นสถานที่บรรทุกทราย และเรือโยง ใช้เป็นเรือที่ไว้ลากจูงเรือโป๊ะอีกทีหนึ่ง คนที่ขับเรือโยงนั้นเรียกกันว่า นายท้ายเรือ ซึ่งต้องเป็นผู้มีความชำนาญในการขับเรือและลากจูงเรือ นอกจากนั้นต้องมีความรู้ในเรื่องกระแสน้ำ เนื่องจากบนเรือไม่มีไฟฟ้า การติดต่อสื่อสารจึงใช้วิทยุสื่อสารในการติดต่อ ทุกครั้งที่จะขนทรายต้องไปเอาทรายที่จังหวัดอ่างทอง ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากบ้านไปเป็นระยะเวลา 12 - 13 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นเรือแต่ละลำจะมีพื้นที่สำหรับกินนอนอยู่บนเรือ

หลังจากได้ทรายที่จังหวัดอ่างทอง มาเต็มลำเรือ ขาล่องกลับมาที่จังหวัดปทุมธานีนั้น จะใช้เวลามากกว่าขาไปเพราะเรือหนัก บางครั้งติดกระแสน้ำลงของแต่ละวัน ทำให้ต้องพักเรือในระหว่างทาง แต่สำหรับคนขนทรายแล้วเป็นความเบิกบานใจเพราะการจอดพักก็อาจจะได้กินก๋วยเตี๋ยวเรือที่ขับผ่านมา หรือ ข้าวโพดคั่วที่ขับเรือผ่านมาขาย เป็นความสุขอย่างหนึ่งนอกจากนี้วิวทิวทัศน์ที่ได้เห็นริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะช่วงจังหวัดอยุธยานั้น ซึ่งมีโบราณสถานที่เก่าแก่มากมาย ยิ่งเป็นรางวัลการเดินทางที่แสนเหนื่อยของพวกเขา ที่แม้คนมีเงินมากมายอาจจะไม่มีโอกาสได้พบเจอ

ติดตามในรายการซีรีส์วิถีคน วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม 2565 เวลา 21.10 - 22.00 น. ทางไทยพีบีเอส หรือรับชมย้อนหลังได้ทาง http://www.thaipbs.or.th/TheConnect

#วิถีคนกับสายน้ำ #ชุมชนชาวแพ #ซีรีส์วิถีคน
-------------------------------------------------------

กด Subscribe ติดตามรายการดี ๆ ของช่อง ได้ที่ : http://thaip.bs/YSBht5j
และ ติดตามไทยพีบีเอสออนไลน์ ได้ที่

Website : http://www.thaipbs.or.th
Facebook : http://www.fb.com/ThaiPBS
Twitter :   / thaipbs  
Instagram :   / thaipbs  
LINE : http://www.thaipbs.or.th/AddLINE
YouTube :    / thaipbs  

Комментарии

Информация по комментариям в разработке