เพลง แขกสาหร่าย เถา

Описание к видео เพลง แขกสาหร่าย เถา

รายการสืบสานงานบันทึกเสียงของครูประสิทธิ์ ถาวร โดยศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรมดนตรี ( ประสิทธิ์ ถาวร ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับผลงานการบันทึกเสียงเพลงไทยเทปนี้เป็นการบรรเลงวงปี่พาทย์ไม้นวม คณะสิทธิถาวร เพลงแขกสาหร่าย เถา ขับร้องโดย ครูลอย รัตนทัศนีย์ ควบคุมการบรรเลงและบันทึกเสียงโดย ครูประสิทธิ์ ถาวร

เพลงแขกสาหร่าย เถา

การเล่นสักวาในสมัยโบราณนั้น นอกจากไหว้ครูแล้ว ก็มีบทและเพลงที่จะร้องอยู่ ๓ ตอน คือ ตอนต้นซึ่งเป็นตอนเกริ่น บทที่จะร้องก็มีเนื้อความในเชิงเกี้ยวพาราสีหรือทักทายปราศรัย หรือเชิญชวนให้เล่นสักวา ทำนองเพลงตอนนี้มักเป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่เพื่ออวดสติปัญญาในการแต่งทำนองเพลงแก่กัน ตอนกลางเป็นตอนจับเรื่อง คือ ดำเนินตามเนื้อเรื่องจากนิยายหรือวรรณคดีที่ตกลงกัน บทที่ร้องตอนท้ายมีใจความแสดงอาลัยอาวรณ์ และอำนวยพรต่อกัน เรียกว่าจำลา ทำนองเพลงที่ร้องก็มักจะเป็นเพลงแต่งขึ้นใหม่เพื่อประกวดประชันกัน เช่นเดียวกับเพลงในตอนต้นเพลงที่ร้องในตอนต้นและตอนท้ายนี้ โดยมากมักจะมีสร้อยหรือดอก เพื่อให้เพิ่มความไพเราะน่าฟังขึ้น และทำนองเพลงทั้ง ๒ ตอนนี้ บางทีก็เป็นอัตรา ๓ ชั้น แต่ปรับปรุงแก้ไขให้วิจิตรพิสดารออกไป และบางทีแต่งขึ้นใหม่เป็นอัตรา ๒ ชั้นก็มีเพลงแขกสาหร่าย ๒ ชั้น ก็เป็นเพลงสำหรับตอนต้น ( ตอนเกริ่น ) ในการเล่นสักวาสมัยโบราณ
เพลงหนึ่ง ซึ่งจ่าเผ่นผยองยิ่ง ( โคม ) เรียกกันเป็นสามัญว่า จ่าโคม เป็นผู้แต่งขึ้นทั้งทำนองและบทร้อง แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่บทสักวาเพลงแขกสาหร่ายของจ่าโคมได้สูญหายไปเสีย คงเหลืออยู่แต่ทำนองเพลงซึ่งได้รับความนิยมใช้บรรเลงกันอย่างแพร่หลายมาจนปัจจุบันนี้ เพลงแขกสาหร่ายที่จ่าโคมแต่งขึ้นนี้เป็นเพลงที่ใช้บทสร้อย ทำนองท่อน ๑ กับท่อน ๒ ใช้บทซึ่งเป็นกลอนสุภาพท่อนละ ๑ คำกลอน ท่อน ๓ ใช้บทร้องเป็นสร้อยนี้แหละได้เป็นปัญหาทางวิชาการในวงการดนตรีขึ้นอย่างหนึ่ง เพราะอาจร้องและบรรเลงแยกออกต่างกันได้ ๓ อย่าง อย่างที่ ๑ มี ๖ จังหวะ (หน้าทับ) ทำนองมี “เท่า” ตอนต้นจังหวะที่ ๒ อย่างที่ ๒ มี ๖ จังหวะเหมือนกัน แต่ทำนองตอนต้นจังหวะที่ ๒ ไม่มี “เท่า” ไปมีเท่าเอาในตอนท้ายของจังหวะที่ ๔ และอย่างที่ ๓ มี ๗ จังหวะ ใส่เท่าตรงจังหวะที่ ๒ ซ้อนกัน ๒ ครั้ง กับตอนท้ายจังหวะมี่ ๔ อีกครั้งหนึ่ง แต่ที่นิยมร้องและบรรเลงกันอย่างแพร่หลายใช้อย่างที่ ๑ ซึ่งมี ๖ จังหวะ และมี “เท่า” ตอนท้ายของจังหวะที่ ๒
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ หลวงประดิษฐไพเราะ ( ศร ศิลปบรรเลง ) ได้นำเอาเพลงแขกสาหร่าย ๒ ชั้น แบบที่ท่อน ๓ มี ๖ จังหวะ และมีเท่าตอนต้นจังหวะที่ ๒ แต่งขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น ซึ่งเป็นเพลงที่มีทำนองไพเราะได้รับความนิยมในวงการดุริยางคศิลป์อย่างแพร่หลาย และเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๗๐ จึงได้ตัดและแต่งทำนองเป็นชั้นเดียวขึ้นอีกอัตราหนึ่ง เพื่อใช้ร้องและบรรเลงครบเป็นเพลงเถา โดยเฉพาะทำนองของชั้นเดียวนี้ มีสำเนียงแขกที่กระฉับกระเฉงน่าฟัง แม้ว่าเสียงตกของทำนองท่อนต้นกับท่อน ๓ บางจังหวะจะคลาดเคลื่อนจากทำนอง ๒ ชั้น อันเป็นสมุฏฐานไปบ้าง แต่เรื่องของดนตรีก็ต้องถือความไพเราะเป็นส่วนสำคัญ อันการที่ทำนองเพลงแขกสาหร่าย ชั้นเดียว มีเสียงคลาดเคลื่อนนี้ ท่านเจ้าของก็รู้และเคยคิดที่จะแก้กันมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อคราวประชุมคณะกรรมการตรวจสอบเพลงไทย และเมื่อได้ทดลองแก้ดูแล้ว ก็ปรากฏว่าความไพเราะสู้ของเดิมที่เสียงคลาดเคลื่อนไม่ได้ จึงตกลงใช้อย่างเดิม
การแต่งทำนองเพลงให้มีเสียงตกผิดแผกไปจากเพลงเดิมนั้น โดยเฉพาะบุคคลชั้นครูผู้ใหญ่ซึ่งรอบรู้ในวิชาการอย่างกว้างขวางย่อมทำได้ แม้เพลงสมัยโบราณก็มีเป็นอันมากเช่นเดียวกับคำโคลงฉันท์ของเก่า ซึ่งท่านจินตกวีผู้ใหญ่ได้แต่งไว้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง แต่ผิดพลาดเอก โท หรือครุ ลหุ ไปบ้าง ก็มีอยู่ไม่น้อย และเราต้องยอมรับเพราะทำนองเพลงก็ดี กวีนิพนธ์ก็ดี ต้องถือความไพเราะและได้เนื้อถ้อยกระทงความเป็นใหญ่ แต่ชนชั้นเรา ๆ ซึ่งภูมิความรู้ และสติปัญญายังไม่ถึงขั้นปาปมุติย่อมไม่ควรที่จะกระทำ

บทร้องเพลงแขกสาหร่าย เถา ( ข้อมูลถอดเสียงจากเทปรีล )

๓ ชั้น
โอ้หอมกลิ่นดอกไม้ที่ในสวน เผยกลีบชวนภุมรินกินเกสร
เจ้าช่างย้อมสีระยับประดับซ้อน ชูชะอ้อนกลิ่นฟุ้งมุ่งยวนใจ
โอ้หอมกลิ่นกุหลาบซาบนาสา สวยยวนตาสวยยิ่งผกาอื่นไกล
กลิ่นหอมหายไปฉันยังจำกลิ่นได้ หอมไม่จางจืดเสียเลยเอย

๒ ชั้น
ภมรหลงลงดมชมกลิ่นหอม แหวกเกสรว่อนตอมบุปผาเผย
รุกขชาติช่างฉลาดกระไรเลย ล่อแมลงเชยเผยพันธุ์ฉันนี้เอย
โอ้ผีเสื้อเหลืองอร่ามงามนักหนา เหมือนทองทาเหมือนลงยาเพริศแพร้ว
ผาดผินบินคลาดแคล้ว ชมพวงพกาแก้ว โรยแล้วก็ร้างไปเลยเอย
( พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ )

ชั้นเดียว
วันนี้แสนสำราญบานใจ เลือกเก็บดอกไม้ที่หอมหวน
จำปากลิ่นตลบอบอวล ลำดวนชวนชื่นชูใจ
พิกุลจะกรองอุบะห้อย มะลิวัลย์จะร้อยเป็นสร้อยใส่
จะผูกพรรณบุปผาเป็นมาลัย วางไว้ข้างที่ศรีไสยา ฯ

( ละคอนดึกดำบรรพ์เรื่องสังข์ศิลป์ชัย พระนิพนธ์สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ )

อ้างอิง
มนตรี ตราโมท และวิเชียร กุลตัณฑ์. ( ๒๕๒๓ ). ฟังและเข้าใจเพลงไทย. กรุงเทพมหานคร:
โรงพิมพ์ไทยเขษม.
สำเนียง มณีกาญจน์ และสมบัติ จำปาเงิน. ( ๒๕๓๙ ). ประชุมเพลงเถาไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑.
กรุงเทพมหานคร : ต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด.

Комментарии

Информация по комментариям в разработке