สาวไหมเชียงราย (๒๐๒๒) - ล้านนาร่วมสมัย

Описание к видео สาวไหมเชียงราย (๒๐๒๒) - ล้านนาร่วมสมัย

เพลงสาวไหมเชียงราย ภายใต้แนวคิดการผสมผสานดนตรีล้านนาและดนตรีตะวันตก
เรื่องราวของฟ้อนสาวไหมได้นำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นถึงที่มาว่ามาจากการฟ้อนเจิง และเพื่อให้เห็นชัดยิ่งขึ้นจะกล่าวถึงพัฒนาการซึ่งเป็นจุดต่อที่สำคัญ โดยจะย้อนไปที่พ่อครูกุย สุภาวสิทธิ์ย้ายที่อยู่จากเชียงใหม่ไปอยู่บ้านศรีทรายมูล จังหวัดเชียงราย และได้ตั้งรกรากอยู่ที่เชียงรายตลอดชีวิต
พ่อครูกุย สุภาวสิทธิ์ เป็นครูสอนฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง นอกจากจะสอนให้ศิษย์แล้ว ก็ได้สอนให้กับบุตรสาวคนสุดท้อง คือนางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ซึ่งเริ่มฝึกฟ้อนเมื่ออายุ 7 ขวบ เพลงที่ใช้ประกอบนั้นไม่แน่นอน เพราะฟ้อนกับวงดนตรีพื้นเมืองได้เกือบทุกเพลง โดยส่วนใหญ่ฟ้อนกับกลองสิ้งหม้อง ซึ่งเป็นกลองที่มีจังหวะง่าย ๆ ธรรมดา และมีอยู่ทั่วไป
ต่อมามีนักดนตรี และนาฏศิลป์ไทยชั้นครู อพยพจากเชียงใหม่ ไปอาศัยอยู่วัดศรีทรายมูล ชื่อนายโม ใจสม นายโมเดิมเป็นชาวมอญ จากอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อมาอยู่ที่วัดศรีทรายมูล ก็ได้ช่วยฟื้นฟูดนตรีพื้นเมืองของวัด คือ “วงเต่งถิ้ง” ขึ้นใหม่โดยสอนคณะศรัทธาของวัด จนมีนักดนตรีฝีมือดีหลายคนขณะเดียวกัน ก็ได้สอนนาฏศิลป์ไทยด้วย
นางบัวเรียวได้มีโอกาสฝึกนาฏศิลป์กับนายโมด้วย เวลามีงานวัดที่ไหน ๆ เจ้าอาวาสและคณะศรัทธาวัดมักจะนำวงดนตรีพื้นเมือง และช่างฟ้อนไปช่วย นางบัวเรียวก็ได้ไปร่วมฟ้อนด้วยเช่นกัน และฟ้อนสาวไหมเป็นฟ้อนที่ถนัดอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นการฟ้อนที่ได้รับความนิยมมาก จึงมักจะได้ฟ้อนสาวไหมเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นฟ้อนสาวไหมจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไปใน 2 ลักษณะ คือ “ลีลา” และ “เพลงประกอบ”
โดยปกตินางบัวเรียวมีความสามารถในการปรับตัว โดยเฉพาะทางนาฏศิลป์และดนตรี ช่วงนี้จึงได้ดัดแปลงท่าฟ้อนให้ลีลา ในการฟ้อนเหมาะสมกับบุคลิกของสุภาพสตรีคือ อ่อนช้อย งดงามและลงจังหวะดนตรีแบบนาฏศิลป์ไทย และในขณะเดียวกันดนตรีประกอบ ซึ่งแต่เดิมใช้ดนตรีพื้นเมืองประเภทไหนก็ได้ ก็เริ่มใช้วงเต่งถิ้งบรรเลงเพลงพื้นเมือง เช่นปราสาทไหว ฤาษีหลงถ้ำ ต่อมาเห็นว่าเพลงเหล่านั้นจังหวะช้าไม่กระชับ จึงใช้เพลงที่เรียกว่า “เพลงสาวไหม” ซึ่งเพลงนี้ผู้รู้บางท่านว่าคือ “เพลงลาวสมเด็จ” แต่บางท่านก็ว่าเป็นเพลงแต่งใหม่โดยนายโม เพื่อประกอบการฟ้อนสาวไหม โดยดัดแปลงจากเพลงลาวสมเด็จอีกทีหนึ่ง
การที่วัดศรีทรายมูลนำวงดนตรี และช่างฟ้อนไปช่วยงานวัดต่าง ๆ ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ตามโอกาสและเทศกาลงานบุญของวัดนั้น ๆ ครั้งหนึ่งราวปี พ.ศ. 2503 วัดศรีทรายมูลได้ไปช่วยงานวัดถ้ำปุ่มถ้ำปลา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นายอินหล่อ สรรพศรี นักดนตรีไทยชั้นครูของเชียงราย ได้ชมการฟ้อนสาวไหมของนางบัวเรียวจึงเกิดความประทับใจ แล้วเก็บไว้ในใจเนื่องจากไม่มีโอกาสทำความรู้จัก
ต่อมาปี พ.ศ. 2507 นายอินหล่อ ได้มีโอกาสชมอีกครั้งหนึ่งที่วัดพระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เห็นว่ามีลีลาอ่อนช้อยนิ่มนวลละมุนละไม จึงได้ทำความรู้จักกับนางบัวเรียว และเชิญให้ไปพบภรรยาของนายอินหล่อ คือนางพลอยสี สรรพศรี ซึ่งเป็นช่างฟ้อนและผู้เล่นละครเก่าจากคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่กับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
จากการได้พบกับนางพลอยสี นาฎการชั้นครูของเชียงราย การฟ้อนสาวไหมก็ได้รับการบูรณะท่าทางในการฟ้อนอีกครั้งหนึ่ง โดยนางพลอยศรีขอให้ฟ้อนให้ดูและขออนุญาตติชม พร้อมทั้งออกความคิดเห็น และช่วยกันปรับปรุงเสริมเติมส่วนที่ยังบกพร่องให้สมบูรณ์ขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของนาฎจริตท่ารำต่าง ๆ ที่มีการปรับเปลี่ยน และปรับปรุง จะได้นำมาเสนอในวันอังคารต่อไป
ที่มา: สนั่น ธรรมธิ, สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Комментарии

Информация по комментариям в разработке