วิถีคนบ้านเวียงลอ จ.พะเยา | ซีรีส์วิถีคน

Описание к видео วิถีคนบ้านเวียงลอ จ.พะเยา | ซีรีส์วิถีคน

หมู่บ้านที่อยู่ร่วมกับโบราณสถาน
บ้านเวียงลอ ตั้งอยู่ในบริเวณ "โบราณสถานเวียงลอ" ซึ่งถือเป็นเมืองโบราณในเขตล้านนาขนาดใหญ่กว่า 1,400 - 1,500 ปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยพ่อขุนงำเมือง มีวัดศรีปิง เมืองเป็นศูนย์กลางของชุมชนและเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญ มีเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยพญาลอ เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ศิลปะล้านนา - สุโขทัย ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่มาก ในหมู่บ้านมี "กู่" หรือวัดร้างอยู่รายรอบกว่า 16 กู่ ซึ่งบางกู่อยู่ในสวนลำใย สวนส้มโอ และทุ่งนาของชาวบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่นาโบราณคนที่นี่เรียกว่า "กัลปนา" คือที่นาที่เจ้าเมืองท่านแบ่งให้ โดยกำหนดไว้ว่าข้าทาสประมาณ 5 - 10 ครอบครัวต้องทำนาปลูกข้าวถวายให้กับพระสงฆ์ในวัดที่เจ้าเมืองกำหนดไว้ บางคนก็เรียกว่า "นาทาส" เพราะสมัยก่อนที่นี่มีวัดมาก และพระสงฆ์เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในเมืองโดยเฉพาะโบราณสถานเวียงลอ ซึ่งชาวบ้านก็อาศัยก็อยู่กับกู่อย่างเอื้ออาทรกัน โดยทุกอาทิตย์ชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันออกมาดูแลรอบ ๆ โบราณสถานที่อยู่ในหมู่บ้านทั้งเก็บกวาดใบไม้ ดายหญ้า ถางหญ้า จัดดอกไม้มาถวายบูชาด้วย

"แม่น้ำอิง" เส้นเลือดใหญ่ของคนเวียงลอ
แม่น้ำสายสำคัญที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชาวบ้านมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่ชื่อว่า "แม่น้ำอิง" มีต้นน้ำมาจากกว๊านพะเยา เป็น 1 ในแม่น้ำไม่กี่สายของไทยที่ไหลสวนทางกับแม่น้ำปรกติขึ้นไปทางทิศเหนือ โดยไปรวมกับแม่น้ำโขง ที่บ้านปากอิง อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีความยาวประมาณ 260 กิโลเมตร

ลุงดอน สิทธิภา เป็นพรานปลารุ่นที่ 4 แห่งแคมอิงหรือลุ่มแม่น้ำอิงสืบทอดมาจากพ่อ เล่าให้ฟังว่า คนริมแม่น้ำอิงโชคดีที่มีแม่น้ำอิงไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ทำให้ที่นี่มีปลาที่อุดมสมบูรณ์ ปลาทุกชนิดที่เกิดในแม่น้ำโขงก็จะไหลมาบรรจบกันที่บ้านเวียงลอ โดยเฉพาะปลาที่พิเศษที่สุดก็คือ ปลาค้าว เป็นชนิดปลาเนื้ออ่อน รสชาติอร่อย คนที่นี่นิยมรับประทานกันมากที่สุด ซึ่งลุงดอนจะใช้วิธีจับปลาค้าวด้วยเบ็ดราวและมักจะโชคดีได้ปลาค้าวแทบทุกครั้ง นอกจากปลาแล้วก็ยังสัตว์น้ำหลายชนิด ทั้ง กุ้ง ปู และพืชน้ำหลายชนิดที่ขึ้นริมแม่น้ำที่เป็นประโยชน์ เช่น ต้นแหย่ง ซึ่งคนในหมู่บ้านยังนำมาสานเป็นเสื่อเรียกว่า "สาดแหย่ง" ซึ่งมีคุณสมบัติเย็นและทนทาน

เลี้ยงครั่ง วิถีโบราณที่เลี้ยงชีพได้
"ครั่ง" คือยางธรรมชาติที่ได้จากสารคัดหลั่งของ "แมลงครั่ง" ซึ่งแมลงครั่งเป็นเพลี้ยชนิดหนึ่งโดยจะอาศัยอยู่ตามต้นไม้เหมือนกาฝาก ใช้ปากดูดเจาะเข้าไปดูดน้ำเลี้ยงต้นไม้มาเป็นอาหารและขับถ่ายออกมาตลอดเวลาเพื่อห่อหุ้มตัวเป็นเกราะป้องกันอันตรายจากศัตรู ซึ่งสารที่ถูกขับถ่ายออกมาก็จะค่อย ๆ เกาะรวมกันบนกิ่งไม้จนแข็งกลายเป็นรังและเมื่อทุบออกจะเป็นสีแดงและเหลืองอำพัน

ครั่ง ใช้ทำเชลแล็ก ย้อมผ้า แม่สี เชื่อมด้ามมีด ประทับตราเอกสาร ในสมัยโบราณบรรพบุรุษใช้ครั่งเป็นตัวเชื่อมกับด้ามดาบ ด้ามหอก เพราะครั่งก้อนแข็งนี้ทำหน้าที่คล้ายเม็ดพลาสติกหลอมเหลวเมื่อโดนความร้อน และจะแข็งตัวเมื่อโดนอากาศเย็น จึงจับยึดวัสดุได้เป็นอย่างดี ภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าจะเอาครั่งมายัดใส่ด้ามมีดแล้วเอามีดไปเผาไฟให้ร้อนเเล้วเสียบลงเบ้าที่อัดด้วยครั่ง เมื่อครั่งโดนความร้อนก็จะหลอมละลายพอแห้งก็จะยึดด้ามมีดให้เเข็งแรง

ลุงพล สมพล ศรีวิชัย วัย 68 ปี เป็นคนเลี้ยงครั่ง มานานกว่า 20 ปี โดยทำสืบทอดจากพ่อ การเลี้ยงครั่งจะนิยมเลี้ยงบนต้นจามจุรีหรือต้นฉำฉา โดยเลือกเอาแม่พันธุ์ครั่ง มัดใส่ในฟางข้าวไว้เป็นกําเล็ก ๆ จากนั้นจะปีนขึ้นไปวางบนง่ามกิ่งไม้เลือกวางใกล้กิ่งที่อ่อนและสมบูรณ์ เพราะลูกครั่งจะเดินไต่ไปเกาะและดูดกินน้ำได้มากที่สุด ใน 1 ปีคนเลี้ยงครั่งจะปล่อยครั่ง เพียง 1 ครั้งหลังจากทำนาเสร็จ ปล่อยเสร็จก็ทิ้งจนลืมครบ 1 ปีก็จะมาตัดครั่ง คนเลี้ยงครั่งจะขึ้นไปตัดครั่งแล้วนำไปเลาะครั่งออกจากกิ่งไม้จนได้ครั่งที่เรียกว่า "ครั่งดิบ" จากนั้นนำไปขาย ราคาครั่งกิโลกรัมละ 130 บาท สร้างรายได้หลักแสนต่อปี

แม้ว่าครั่งเป็นอาชีพโบราณแต่ลุงพลบอกว่ามันจะไม่หายไป ถึงในอนาคตจะราคาตกลงมากิโลกรัมละสลึง ลุงก็จะไม่หยุด จะทำต่อไปเรื่อย ๆ และให้ลูกทำสืบต่อไป เช่นเดียวกับที่ลุงทำสืบต่อจากพ่อมา

ติดตามในรายการซีรีส์วิถีคน วันจันทร์ที่ 2 มกราคม 2566 เวลา 17.30 - 18.00 น. ทางไทยพีบีเอส รับชมย้อนหลังได้ทาง http://www.thaipbs.or.th/TheConnect

#ซีรีส์วิถีคน #โบราณสถานเวียงลอ #แม่น้ำอิง

-------------------------------------------------------

กด Subscribe ติดตามรายการดี ๆ ของช่อง ได้ที่ : http://thaip.bs/YSBht5j
และ ติดตามไทยพีบีเอสออนไลน์ ได้ที่

Website : http://www.thaipbs.or.th
Facebook : http://www.fb.com/ThaiPBS
Twitter :   / thaipbs  
Instagram :   / thaipbs  
LINE : http://www.thaipbs.or.th/AddLINE
TikTok :   / thaipbs  
YouTube :    / thaipbs  

Комментарии

Информация по комментариям в разработке