สร้อยสน พระนคร

Описание к видео สร้อยสน พระนคร

เพลงช้าเรื่องสร้อยสน ทางฝั่งพระนครเป็นเรื่องประเภทเพลงช้า อยู่ในหลักสูตรของวิทยาลัยนาฏศิลป ในหลักสูตรนาฏศิลปชั้นต้น (ชั้นต้นปี่ที่ 2) เข้าใจว่าสำนวนดังกล่าวเป็นทางของครูหลวงบำรุงจิตเจริญ (ธูป สาตรวิลัย)

เหตุที่เรียกว่าทางฝั่งพระนครเนื่องจากเป็นทางที่ใช้บรรเลงกันแพร่หลายในวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ซึ่งมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร จึงเรียกว่าทางฝั่งพระนครเป็นชื่อลำลอง ล้อกับเพลงทางฝั่งธนซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักดนตรีบ้านพาทยโกศล ซึ่งมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาย่านวัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี

เพลงช้าเรื่องสร้อยสน มีการเรียบเรียงเพลงไว้หลายสำนวน มีความสั้นยาวของเพลงแตกต่างกันตามแต่ละสำนัก สำหรับเพลงช้าเรื่องสร้อยสนที่ปรากฎในคลิปวิดีโอนี้เป็นสำนวนของวิทยาลัยนาฏศิลป ซึ่งผู้บรรเลงได้รับการถ่ายทอดเมื่อราว พ.ศ.2542 จากอาจารย์กิตติ อัตถาผลและอาจารย์รัตนชัย เตียวิเศษ เมื่อเรียนอยู่ชั้นต้นปีที่ 2 ที่วิทยาลัยนาฏศิลป (วังหน้า)

เพลงช้าเรื่องสร้อยสนทางนี้มีโครงสร้างเพลงเรียงตามลำดับดังนี้

1. เพลงช้าสร้อยสน 2 ท่อน
2. เพลงช้าพวงร้อย 2 ท่อน
3. สองไม้ (ไม่ทราบชื่อ) 5 ท่อน
4. เพลงเร็ว (ไม่ทราบชื่อ) 2 ท่อน
5.เพลงเร็ว ต้นบรเทศ 4 ท่อน
6.เพลงเร็ว บรเทศ 2 ท่อน
7. เพลงเร็ว ต้นบรเทศ(เปลี่ยนเสียง) 4 ท่อน
8. เพลงลา สองชั้น

เพลงที่รวมอยู่ในเพลงช้าเรื่องสร้อยสนนี้ มีหลายเพลงที่สร้างแรงบันดาลใจให้ครูบาอาจารย์นำเพลงที่ประพันธ์ต่อยอดเพื่อแยกออกมาบรรเลงเป็นเอกเทศ เช่นเพลงสร้อยสน ถูกหยิบมาประพันธ์ใหม่โดยพระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) นำมาประพันธ์เหลือท่อนเดียวแล้วเรียกชื่อว่า "เพลงสร้อยสนตัด" และครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์นำมาขยายและตัดถอนจนครบเป็นเพลงเถา

เพลงพวงร้อยก็ถูกนำมาประพันธ์เป็นเพลงเถาหลายทาง เช่นทางพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งได้นิพนธ์ไว้สำหรับวงโยธวาทิตและวงปี่พาทย์ ทางของครูจางวางทั่ว พาทยโกศลและทางของครูสมาน ทองสุขโชติ

เพลงต้นบรเทศ ถูกนำมาประพันธ์ในรูปแบบของเพลงเถาโดยครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) แล้วเรียกชื่อใหม่ว่า "เพลงชมแสงจันทร์ เถา"

จะเห็นได้ว่าเพลงเรื่องเป็นต้นทางของการศึกษาเพลงไทยที่เปิดโอกาสให้ผู้ศึกษาได้มีโอกาสพัฒนาต่อยอดความรู้ได้ในขั้นสูง เนื่องจากเพลงเรื่องเป็นแหล่งรวมชั้นยอดของทำนองเพลงต่าง ๆ ที่โบราณจารย์คัดสรรค์เพลงที่มีทำนองเป็นเลิศมารวมเข้าเป็นชุดกัน เมื่อศึกษาจนเข้าใจแล้วจะสามารถนำทำนองเพลงต่าง ๆ ไปต่อยอดเป็นเพลงใหม่ ๆ ได้มากมาย

** วิดีโอชุดนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นสื่อกลางให้นักดนตรีที่ผ่านการเรียนเพลงดังกล่าวมาแล้วได้ทบทวน ผู้จัดทำยังเชื่อว่าการเรียนดนตรีควรเรียนกับครูผู้ชำนาญการ **


ผู้บรรเลงฆ้องวงใหญ่ : ปกป้อง ขำประเสริฐ
ฉิ่งและกลอง : เรียบเรียงในโปรแกรม FL Studio 20
Camera : Panasonic Lumix Gh4 with LUMIX G X VARIO 12-35mm / F2.8 II ASPH. / POWER O.I.S

Комментарии

Информация по комментариям в разработке