เล่าเรื่องไทอาหม Tai Ahom # 4

Описание к видео เล่าเรื่องไทอาหม Tai Ahom # 4

เล่าเรื่องไทอาหม Tai Ahom # 4

ในตอนนี้จะเล่าให้ฟังเรื่องไทอาหมทำศึกกับโมกุลกษัตริย์อินเดีย ทหารโมกุลไม่สามารถยึดครองไทอาหมในอัสสัมได้เลย คำว่า โมกุล เรียกตามการออกเสียงของเปอร์เซีย เป็นคำเดียวกับที่เราเคยได้ยิน คือคำว่า มองโกล นั่นเอง ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชนเผ่าไทอาหม ก็คือความสามารถในการสกัดกั้นการขยายดินแดนและอำนาจของโมกุล (มุสลิม) ได้สำเร็จ ในสมรภูมิซาไรฆัต (Battle of Saraighat) ขุนศึกอาหมนามว่า ลาชิต บอร์พูกาน (Lachit Borphukan, Lachit Borphukon) นำทัพเข้าต่อสู้จนได้ชัยชนะเหนือกองทัพโมกุลตรงบริเวณนอกเมืองเคาฮาตี (Guwahati) ในปัจจุบัน เมื่อปี ค.ศ. 1671 ตำแหน่ง Borphukan แต่เดิมใช้ว่า Borphukon คำว่า บอร์ หมายถึงบรม คำว่า ผู้ (phu) หมายถึงผู้ชาย เหมือนคำว่า ตัวผู้ คำว่า ก้น หมายถึง ต้น ตำแหน่งนี้เราจะได้ยินทั้ง 2 แบบคือ บอร์พูก้น และ บอร์ผู้กัน คนไทอาหมหลาย ๆ คน ก็มีสกุลว่า borphukon
การต่อสู้ระหว่างโมกุลกับไทอาหมเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1615 ก่อนสมัยกษัตริย์ออรังเซบ (Aurangazeb) เมื่อกษัตริย์ออรังเซบขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1658 ก็เริ่มต่อสู้กันอีกตั้งแต่ ค.ศ. 1667 รวมการต่อสู้ทั้งหมด 17 ครั้ง การต่อสู้ครั้งใหญ่เกิดขึ้นที่ ซาไรฆัต เมื่อ ค.ศ. 1671 และครั้งสุดท้ายที่ อิทักฮูลี (Itakhuli) ในปี ค.ศ. 1682 เป็นสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างโมกุลกับไทอาหม การต่อสู้ทั้ง 17 ครั้ง กษัตริย์โมกุลไม่สามารถขยายดินแดนเข้าไปในอัสสัมได้เลย กษัตริย์ออรังเซบ เป็นทายาทของกษัตริย์จักรพรรดิชาห์ชะฮัน กับ พระนาง มุมตาซ มหัล ที่พระศพบิดาและมารดาของพระองค์ ถูกฝังอยู่ในทัชมาฮาล
ค.ศ. 1662 แม่ทัพโมกุลโดย มีรชุมลาห์ (Mir Jumla) นำทัพบุกเข้ายึดเมืองเคาฮาตีเมืองหลวงของไทอาหม เจ้าเสือพึ่งฟ้า (จักรธวัชสิงห์) ต้องย้ายออกจากเมืองหลวงไปที่เชิงเขานัมรุป (Namrup hills) หลังจากนั้นอีก 1 ปี มีรชุมลาห์ ก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1663 ศพฝังไว้ที่ มังคชา ดูบริ อัสสัม (Mankachar, Dhubri, Assam)
ค.ศ. 1667 กษัตริย์จักรธวัชสิงห์ แต่งตั้งให้ลาชิตเป็นแม่ทัพเข้าโจมตีกองทัพโมกุล และยึดเมืองเคาฮาตีกลับคืนมาได้ กษัตริย์โอรังเซบ แต่งตั้งให้ราชารามสิงห์ (Raja Ram Singh) นำทัพมาตีเมือง เคาฮาตีคืน โดยนำทหารมา 30,000 นาย ทหารม้า 18,000 พลธนู 2,000 พลปืน5,000 ทหารม้าราชปุต 21 นาย ปืนใหญ่ 1,000 กระบอกพร้อมด้วยเรือ 40 ลำมายึดคืน นั่นเป็นกองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่จะยึดครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดมาอยู่ภายใต้การปกครองของโมกุล
โมกุล เป็นผู้เชี่ยวชาญในการสงครามทางพื้นดิน พวกเขาเอาชนะอินเดียทั้งหมดบนหลังม้า ลาชิต รู้ว่าเขาไม่มีโอกาสขัดขวางการโจมตีของโมกุลทางบก มีทางเดียวคือต้องหลอกล่อให้กองทัพโมกุลมาสู้รบทางแม่น้ำ ลาชิตทราบว่ากองทัพโมกุลมีจุดอ่อนที่สุดในการรบทางน้ำและลาชิตได้ใช้ช่องโหว่นี้รับศึก แม้ว่ากองทัพโมกุลจะมีเรือ 40 ลำ แต่ก็ไม่มีประสบการณ์ในการทำสงครามทางน้ำมากนัก อีกด้านหนึ่งนักรบอาหมมีความชำนาญในการทำสงครามแม่น้ำเนื่องจากเป็นดินแดนของไทอาหม ลาชิต ถือยุทธศาสตร์ที่ เคาฮาตี ในแม่น้ำพรหมบุตร รามสิงห์ใช้อุบายปล่อยสุนัขให้ไล่กัดทหารไทอาหมแล้วใช้ปืนระดมยิง ลาชิตสั่งให้ทหารมาตั้งค่ายล้อมเมืองไว้เป็นปราการที่แข็งแรงเพื่อป้องกันการโจมโตของทัพโมกุล เมื่อกองทัพโมกุลเคลื่อนเข้ามาใกล้เมือง ขณะนั้นยังสร้างค่ายกำแพงยังไม่เสร็จ ลาชิตพยายามยื้อเวลาออกไป จึงให้ฟีรุชข่านเจ้าเมือง เคาฮาตีคนเก่าที่ถูกจับเป็นเชลย ถือหนังสือไปให้รามสิงห์ เพื่อสอบถามว่าเหตุใดจึงจัดกองทัพมารบ สงครามไม่ใช่ ทางออก ควรเจรจากันก่อน แม่ทัพโมกุลแจ้งว่าให้ออกมารบและจะมาทวงดินแดนคืนจากอาหม
การเจรจาต่อรองไปถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1669 ป้อมค่ายของลาชิตก็เสร็จทุกแห่ง กองกำลังรามสิงห์เริ่มยุทธวิธีตีค่ายที่อยู่ริมแม่น้ำก่อนแต่ไม่สามารถเอาชัยได้ ต้องถอยกลับไป ค่ายของอาหมมีคูน้ำล้อมรอบเมื่อค่ายโดนยิงก็ซ่อมเสร็จทันที อาหมก็ยิงปืนโต้ตอบจนกระทั่งรามสิงห์ต้องยอมถอยกลับ
การรบยังคงดำเนินไปต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1670 กองทัพรามสิงห์เคลื่อนที่ไปตามแม่น้ำพรหมบุตร จนถึงเมือง ฮาโจ (Hajo)
ขณะนั้นไทอาหมเปลี่ยนกษัตริย์ปกครอง เจ้าเสือหยาดฟ้า (อุทยาทิตยสิงห์) ขึ้นครองราชย์ การเจรจาก็ยังดำเนินไปเรื่อย ๆ รามสิงห์เสนอเงินเพื่อให้ราชิตถอยทัพจาก เคาฮาตี ลาชิตตัดสินใจสู้กับโมกุลถึงขั้นแตกหักแม้ขณะนั้นกำลังป่วยก็ตาม กองทัพเรือโมกุลเคลื่อนที่เข้ามาถึงแม่น้ำพรหมบุตรช่วงที่แคบที่สุดมีความกว้าง 1 กม. ทหารอาหมใช้เรือเล็กกว่าทำทีว่าถอยเรือไปทางเหนือ ที่ตรงนั้นเป็นหล่มโคลนที่เรือใหญ่ผ่านไม่ได้ กองทัพโมกุลหลงกลเข้ามาติดหล่มโคลน กองทัพเรืออาหมมีขนาดเล็กกว่า สามารถผ่านไปมาได้ และได้โจมตีทหารโมกุล จนกองทัพโมกุลได้รับความพ่ายแพ้ ลาชิเองก็เสียชีวิตในสนามรบ
เหตุการณ์ในสมรภูมิ ซาไรฆัต ลาชิต บาร์พูกัน ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ แม้กระทั้งแม่ทัพของโมกุลก็ยังยกย่องและมีบันทึกเขียนถึงว่า “ทหารอัสสัมทุกคนเชี่ยวชาญการพายเรือ ยิงธนู ขุดป้อมปราการ ยิงปืน และใช้ปืนใหญ่ ซึ่งไม่พบลักษณะเช่นนี้ในที่อื่นของอินเดีย” และกล่าวถึงลาชิตว่า “เป็นเกียรติยศต่อกษัตริย์ เป็นเกียรติยศของท้องถิ่น เป็นเกียรติยศต่อกองทัพ และเกียรติยศแก่ประเทศ เพียงผู้เดียวสามารถนำกองทัพทั้งหมดได้ ในความคิดเห็นส่วนตัวของเรา รามสิงห์ไม่สามารถเห็นช่องโหว่ หรือโอกาสเลยสักครั้งเดียวในการศึก”
ปัจจุบันมีรูปปั้นของลาชิตที่แม่น้ำพรหมบุตร ใกล้เมืองเคาฮาตี เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงความสามารถของแม่ทัพไทอาหม ขณะนี้ได้ติดตั้งสำเร็จสมบูรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 2017 ลาชิต ถือเป็นวีรบุรุษของชาวอัสสัม ชาวอัสสัมหลายคนถ่ายภาพถือดาบเหมือนวีรบุรุษของเขา

Комментарии

Информация по комментариям в разработке