มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์

Описание к видео มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์

00:00 | ประวัติความเป็นมา
00:45 | มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์
03:37 | End Credits

มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์...จิตวิญญาณตำรวจไทย

“...เกิดมาแล้วต้องตาย ชาติชายเอาไว้ลายตำรวจไทย...” ท่อนหนึ่งจากเพลง “มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์” หรือชื่อที่ผู้คนมักเรียกด้วยความคุ้นเคย “มาร์ชตำรวจ” เป็นท่อนที่ว่ากันว่าท่านอดีตอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ โปรดปรานยิ่งนัก
ย้อนหลังไปเมื่อ ปี พ.ศ. 2485 ท่านอธิบดีเผ่า ศรียานนท์ เมื่อครั้งโอนย้ายจากกองทัพบก มาเป็นอธิบดีกรมตำรวจ หวังที่จะให้มีเพลงประจำหน่วยตำรวจเหมือนอย่างที่กองทัพบกมีเพลงมาร์ชกองทัพบก ท่านจึงให้ เฟ้นหานักประพันธ์เพลงชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ซึ่งก็ได้ “ครูนารถ ถาวรบุตร” บรมครูนักแต่งเพลงในยุคนั้น มาประพันธ์ทำนองให้ และได้ “ครูแก้ว อัจฉริยะกุล” เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง โดยมีเรื่องเล่ากันว่า ท่านอธิบดีเผ่าฯ ได้บอกกับครูนารถ ไว้ว่า สำหรับเพลงมาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์ จะให้แพ้เพลงมาร์ชกองทัพบกไม่ได้เป็นอันขาด ซึ่งในที่สุด จะแพ้หรือไม่ ไม่ทราบได้ ทราบแต่เพียงว่า ท่านอธิบดีเผ่าได้มอบเงินเป็นค่าตอบแทนให้กับครูนารถ เป็นธนบัตรปึกหนึ่ง พร้อมเขียนคำชมลงในนามบัตรพร้อมลายเซ็น มีข้อความว่า “สำหรับครู เอาไว้ให้ตำรวจดู เวลาครูเล่นไพ่”
บทเพลงนี้ บันทึกเป็นแผ่นเสียงครั้งแรก ที่โรงภาพยนต์เฉลิมไทย โดยฝรั่งจากอินเดียมาทำหน้าที่เป็นผู้บันทึกด้วยระบบขี้ผึ้ง ระยะต่อมา มีการเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ โดยศาสตราจารย์ เสวกโท พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
ในปี พ.ศ.2566 มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์ ถูกนำมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่อีกครั้ง และขับร้อง-บรรเลง ในรูปแบบวงป็อปออร์เคสตรา (Pop Orchestra) มีนักร้อง นักดนตรี ร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับเพลงนี้ กว่า 70 ชีวิต และได้โปรดิวเซอร์มือทอง ภราดร เพ็งศิริ (ครูเต๋า) มาเป็นผู้ควบคุมการผลิต และปิติ เกยูรพันธ์ ที่ปรึกษาด้านดนตรี โดยในครั้งนี้ ถูกตีความโดยนักดนตรีรุ่นใหม่ ของวงดุริยางค์ตำรวจเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย เรียบเรียงเสียงประสาน โดย ส.ต.ท.ฐณวัฒน์ เอื้อพูนผล มหาบัณฑิต ทางดนตรีจากมหาวิทยาลัยรังสิต และ ส.ต.อ.วัชระ ดีดวงพันธ์ บัณฑิต ด้านดนตรีสากล จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ควบคุมวง (Conductor) โดย พ.ต.ท.กิตติกุล วรรณกิจ สารวัตร ฝ่ายดนตรี กองสวัสดิการ สำนักงานกำลังพล บันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียง ที่ Studio 28 กรุงเทพมหานคร เมื่อ กันยายน 2566 และทำการเผยแพร่ ผ่านสื่อแห่งยุคสมัยนี้ (2566) ที่เรียกว่า Social Media ในทุกช่องทาง

บันทึกโดย
พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์
ผู้บัญชาการ สำนักงานกำลังพล
กันยายน 2566

Комментарии

Информация по комментариям в разработке