ศิลปินกรมศิลปากร EP. 10 เดี่ยวระนาดเอก และเดี่ยวฆ้องวงใหญ่ จีนขิมใหญ่

Описание к видео ศิลปินกรมศิลปากร EP. 10 เดี่ยวระนาดเอก และเดี่ยวฆ้องวงใหญ่ จีนขิมใหญ่

ศิลปินกรมศิลปากร EP. 10
เดี่ยวระนาดเอก และเดี่ยวฆ้องวงใหญ่ จีนขิมใหญ่

ชนชาวสยามตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์นั้นมีความมั่งคั่งจากการเปิดประเทศติดต่อค้าขายกับนานาประเทศโดยเฉพาะจีน ด้วยความนิยมในสินค้าจีนรวมถึงศิลปวัฒนธรรมจีนจึงได้เกิดการแลกเปลี่ยนสังสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมเจริญงอกงามส่งผลถึงอิทธิพลความนิยมในการประพันธ์เพลงที่เลียนแบบสำเนียงภาษาต่างชาติต่างเผ่าพันธ์ุ ไม่ว่าจะเป็นเพลงสำเนียงแขก มลายู อินเดีย ฝรั่ง พม่า มอญ เขมร ลาว เป็นอาทิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงสำเนียงจีนที่สะท้อนถึงวิถีสังคมชาวไทยต่อความรู้สึกคุ้นเคยกับศิลปวัฒนธรรมจีนและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวจีนมากที่สุดในบรรดาชาวต่างชาติที่มีความสัมพันธ์กับสยามมาแต่เก่าก่อน
เพลงจีนขิมใหญ่แต่เดิมมีชื่อว่า”จีนขิม” เป็นเพลงเก่าสมัยอยุยาในอัตรา 2 ชั้น มีท่วงทำนองที่ไพเราะงดงาม สาเหตุที่มีการเรียกชื่อใหม่ว่าจีนขิมใหญ่ ก็ด้วยกาลต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สุดยอดดุริยกวีไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางคกูร) หรือครูมีแขก ผู้ฝากผลงานการประพันธ์เพลงไทยที่ขึ้นชื่อฝากไว้เป็นมรดกแก่ชนชาวไทย อาทิ เชิดจีน ทยอยเดี่ยว ทยอยนอก พระอาทิตย์ชิงดวง รวมถึงเพลงสำเนียงภาษาต่างๆ อีกมากมาย ท่านได้ประพันธ์เพลงจีนขิมอีกสำนวนหนึ่ง จึงเรียกเพลงจีนขิมในสมัยอยุธยาว่า “จีนขิมใหญ่” และเรียกชื่อเพลงจีนขิมที่ท่านประพันธ์ว่า “จีนขิมเล็ก” โดยเพลงจีนขิมเล็กมีทำนองสั้นไพเราะ นิยมนำมาบรรเลงโดยวงดนตรีไทยทั่วไป ส่วนเพลงจีนขิมใหญ่ที่มีท่วงทำนองที่ยาวกว่าจีนขิมเล็กกลับได้รับความนิยมนำมาเรียบเรียงเป็นทางเดี่ยวสำหรับเครื่องดนตรีไทยแทบทุกชนิด ด้วยมีลีลาท่วงทำนองที่เหมาะแก่การประดิษฐ์ทางเพื่อแสดงถึงศักยภาพและทักษะของผู้บรรเลงดียิ่งด้วยความยาวที่ไม่มากเกินไป ความคล่องแคล่วว่องไวในการบรรเลง ทางเพลงที่เหมาะแก่การผูกกลอนเพลงให้วิจิตรพิสดารนำมาบรรเลงประกวดประชันฝีมือไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีฝั่งเครื่องสายอย่าง จะเข้ ขิม หรือเครื่องดนตรีฝั่งปี่พาทย์อย่าง ระนาดเอก ระนาดทุ้ม หรือฆ้องวงใหญ่
รายการศิลปินกรมศิลปากร EP.10 ครั้งนี้เป็นการนำเสนอการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกและฆ้องวงใหญ่เพลงจีนขิมใหญ่ ผลงานการประพันธ์ทางเดี่ยวของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ยอดดุริยกวีไทยผู้บุกเบิกการประพันธ์เพลงไทยทางกรอ และพัฒนาเทคนิคการบรรเลงวงปี่พาทย์ โดยเฉพาะระนาดเอกที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน บรรเลงเดี่ยวระนาดเอกโดยทวีศักดิ์ อัครวงษ์ ดุริยางคศิลปินอาวุโส ซึ่งรับการถ่ายทอดการบรรเลงจากครูไชยยะ ทางมีศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย และบรรเลงเดี่ยวฆ้องวงใหญ่โดยพงค์พันธ์ เพชรทอง ดุริยางคศิลปินอาวุโส ซึ่งรับการถ่ายทอดจากครูเอนก อาจมังกร อดีตผู้อำนวยการสำนักการสังคีต การบรรเลงจะเริ่มจากการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกแล้วต่อด้วยการบรรเลงเดี่ยวฆ้องวงใหญ่ในอัตรา 2 ชั้นที่มีลีลาวิจิตรโลดโผนพริ้วไหว และจะบรรเลงพร้อมกันในอัตราชั้นเดียวที่ประพันธ์โดยครูมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ด้วยบรรยากาศแห่งความสนุกสนานจนจบเพลง

นักดนตรี

ทวีศักดิ์ อัครวงษ์ ระนาดเอก
พงค์พันธ์ เพชรทอง ฆ้องวงใหญ่
สุภร อิ่มวงศ์ กลองต๊อก
นลินนิภา ดีทุม ฉิ่ง

ถ่ายทอดการบรรเลง

ไชยยะ ทางมีศรี
เอนก อาจมังกร

ควบคุมการบรรเลง

ไชยยะ ทางมีศรี

บันทึกเสียงและผสมเสียง

พงค์พันธ์ เพชรทอง
นพดล ป้อมเพชร


บันทึกวิดิโอ

พงค์พันธ์ เพชรทอง
มารุต มากเจริญ

ผลิตรายการ

เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี
พงค์พันธ์ เพชรทอง

อำนวยการบรรเลง

ลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต
สุริยะ ชิตท้วม ผู้อำนวยการกลุ่มดุริยางค์ไทย

Комментарии

Информация по комментариям в разработке