ประเพณีผูกเสี่ยว : ภาคภาษาอีสาน

Описание к видео ประเพณีผูกเสี่ยว : ภาคภาษาอีสาน

ผูกเสี่ยว

ผูกเสี่ยว เป็นประเพณีเก่าแก่และสำคัญของชาวอีสาน โดยพ่อแม่จะนำลูกหลานที่รักกันมาผูกแขนป็นเพื่อนกัน คำว่า "เสี่ยว" ในภาษาอีสานมีความหมายว่า "เพื่อนรัก หรือ เพื่อนตาย" ประดุจมีชีวิตเดียวกัน จึงต้องมีความซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน มีความผูกพันกันด้านจิตใจอย่างจริงจังและเต็มใจ ไม่มีสิ่งใดจะมาพรากจากกันได้แม้แต่ความตาย ในพิธีผูกเสี่ยวจะมีผู้อาวุโสที่เป็นที่เคารพนับถือมาเป็นสักขีพยาน หลังผู้ทำพิธีกล่าวคำว่า "สักเค" ให้จองเกลอ (คู่ที่ผูกเสี่ยว) กล่าวคำสาบานโดยมีความหมายว่า "เราทั้งสองมาสาบานต่อกันว่าจะซื่อสัตย์ต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้าใครคิดคดทรยศต่อกันขอให้คนนั้นต้องมีอันเป็นไป" จากนั้นจะดื่มน้ำสาบานต่อหน้าผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ผู้ประกอบพิธีก็ผูกข้อมือให้แก่คู่จองเกลอก็เป็นอันเสร็จพิธี

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เป็นประเพณีเก่าแก่และเป็นภูมิปัญญาที่ทำให้สังคมของชาวอีสานเข้มแข็ง เป็นสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างเสี่ยวหรือเพื่อนรักเพื่อนตาย และเครือญาติของทั้งสองฝ่าย

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม การมีเพื่อนตายที่มีความรัก ความจริงใจ ความเข้าใจต่อกันเป็นอย่างดี

ประเพณีผูกเสี่ยว

ประเพณีผูกเสี่ยว เป็นประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาว การผูกเสี่ยว คือ การสัญญาที่จะเป็นเพื่อนรักร่วมเป็นร่วมตาย โดยมีสักขีพยาน การผูกเสี่ยวนิยมกระทำระหว่างชายกับชาย หรือหญิงกับหญิงที่วัยใกล้เคียงกัน และลักษณะนิสัยใจคอที่คล้ายคลึงกัน โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่จะเป็นผู้ทาบทาม ขอผูกเสี่ยวกัน เรียกว่า "แฮกเสี่ยว" เมื่อตกลงก็จะผูกเสี่ยวโดยใช้ฝ้ายมงคล ผูกข้อมือของแต่ละคนเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่คู่เสี่ยว บางแห่งก่อนจะผูกเสี่ยวจะจัดพิธีสู่ขวัญ ให้ศีล ให้พร อบรมสั่งสอนให้แก่คู่เสี่ยวฮักนับถือกัน ตลอดถึงพ่อแม่ พี่น้อง และวงศาคณาญาติของกันและกัน ให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันตลอดไป ตอนนี้เรียกว่า "ขอดเสี่ยว" หลังจากนั้นก็จะมีการเลี้ยงข้าวปลาอาหารกันตามสมควรแก่ฐานะ

เสี่ยว หมายถึง สหาย, มิตร, เพื่อน, เกลอ (friend, buddy, comrade.) คนที่มีรูปร่างหรือ นิสัยใจคอเหมือนกันหรือเกิดไล่เลี่ยกัน พ่อแม่ผูกให้เป็นมิตรกัน เรียกว่า "ผูกเสี่ยว" ซึ่งเขาทั้งสองจะผูกสมัครรักใคร่ คอยช่วยเหลือเกื้อกูลจนวันตาย หรือจะเรียกว่า "เป็นเพื่อนตาย" ก็ยังได้

คำว่า "บักเสี่ยว" ที่คนในภาคอื่นๆ นำมาใช้เรียกคนอีสานอย่างดูแคลนจึงไม่ถูกต้อง เพราะ คำว่า "บัก" เป็นคำที่ใช้เรียกชื่อชายที่มีอายุเสมอกัน หรือต่ำกว่ากันว่า บักสี บักสา บักมี บักมา (นายสี, นายสา, นายมี, นายมา) ถือเป็นคำพูดพื้นๆ ไม่หยาบคายแต่อย่างใด คำว่า "บักสี่ยว" จึงหมายถึงการเรียกว่า ไอ้เพื่อนเกลอเท่านั้นเอง

Комментарии

Информация по комментариям в разработке