Dyck and Morton: เดี่ยวซึง โดย พ่อต๋าคำ ชัยวินา ธันวาคม พ.ศ. 2512

Описание к видео Dyck and Morton: เดี่ยวซึง โดย พ่อต๋าคำ ชัยวินา ธันวาคม พ.ศ. 2512

บันทึกวีดิทัศน์โดย ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด มอร์ตัน (David Morton) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส และอาจารย์เจอรัลด์ ไดค์ (Gerald P. Dyck) หน้าวิหารหลวง วัดเชียงมั่น เป็นส่วนหนึ่งของวีดิทัศน์ชุด A Northern Thai Sample

เดือนธันวาคม พ.ศ. 2512 มอร์ตัน ได้ติดต่อเจอรัลด์ ไดค์ เกี่ยวกับฟิล์ม 16 มิลลิเมตรที่ใช้สำหรับการถ่ายทำวีดิทัศน์เหลือจากการถ่ายทำที่กรุงเทพฯ และไดค์สนใจที่จะใช้ฟิล์มที่เหลือในการถ่ายทำวงดนตรีล้านนา นำมาสู่การบันทึกวีดิทัศน์และบันทึกเสียงวงดนตรีล้านนาในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเลือกพื้นที่และวงดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไดค์เคยเก็บข้อมูลมาก่อนหน้านี้จำนวน 5 คณะนักดนตรี

มอร์ตันไม่ได้นำฟิล์มที่ถ่ายทำและเทปรีลบันทึกเสียงจำนวน 6 ม้วนกลับไปด้วย ดังนั้นไดค์จึงได้นำไปจัดเก็บที่ภาควิชาดนตรีของวิทยาพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี จวบจน พ.ศ. 2514 จึงได้นำฟิล์มวีดิทัศน์และเทปรีลบันทึกเสียงกลับไปที่สหรัฐอเมริกาด้วย ไดค์รับตำแหน่งรองศาสตราจารย์ดนตรี ที่วิทยาลัยบลัฟตัน (Bluffton College) รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่วิทยาลัยนี้ ไดค์ได้ก่อตั้งวิชาดนตรีโลก โดยใช้เครื่องดนตรีล้านนาที่เขาซื้อมาจากเชียงใหม่ใช้สอนนักศึกษา และมีการสอนดนตรีแอฟริกา ดนตรีอินเดีย ในรายวิชาดังกล่าว

ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ไดค์ได้ร่วมกับนักศึกษาวิชาดนตรีโลก คือ บารารา ฟิชเชอร์ (Barbara Fisher) ได้นำฟิล์มวีดีโอขนาด 16 มิลลิเมตรและเทปบันทึกเสียงที่เคยบันทึกร่วมกันกับศาสตราจารย์ ดร.เดวิด มอร์ตัน ที่เชียงใหม่นำมาตัดต่อใหม่ เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ไดค์ได้ส่งวีดีโอที่ตัดต่อแล้วกลับไปยังมอร์ตันที่สถาบันมานุษยวิทยาดนตรี มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสเองเจลลิส ในปี พ.ศ. 2517 หลังจากนั้นไดค์ไม่ได้รับการตอบกลับใด ๆ อีก ทั้งทราบภายหลังว่า ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด มอร์ตันได้เกษียณไปแล้ว อีกทั้งไม่มีเจ้าหน้าทราบว่าวีดีโอดังกล่าวอยู่ที่ใด จึงทำให้วีดีโอดังกล่าวสูญหายไปกว่า 32 ปี

ในปี พ.ศ. 2549 จอห์น วาลลิเออร์ (John Vallier) เจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ค้นพบม้วนฟิล์มวีดีโอดังกล่าวในหอจดหมายเหตุ วีดีโอดังกล่าวนั้นอยู่ในกล่องที่เขียนว่า “Morton Chiang Mai Collection” หลังจากนั้น มัวรีน รัสเซลล์ (Maureen Russell) เจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุ ได้แปลงเทปที่บันทึกจากสนามในครั้งนั้นเป็นซีดี และแปลงวีดิทัศน์ขนาด 16 มิลลิเมตรซึ่งไม่มีเสียง ไดค์ได้นำวีดิทัศน์และเสียงที่แปลงแล้วนำมารวมกัน โดยมีไบรอัน มิคเคลสัน (Brian Mikkelson) นักเทคนิคเสียงเป็นผู้ช่วยเหลือ และเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550

ต่อมา ไดค์ได้พบกับ ลุคค์ วาสเซอร์แมน (Luke Wasserman) เจ้าของเว็บไซต์จัดจำหน่ายซีดีชื่อ Earth CDs ในงานสัมมนาสมาคมมานุษยวิทยาดนตรี (Society of Ethnomusicology: SEM) ที่เมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ เขาสนใจวีดิทัศน์ดังกล่าว จึงได้เผยแพร่และจัดจำหน่ายผ่าน www.earthcds.com (ปัจจุบันไม่มีการดำเนินการเว็บไซต์นี้แล้ว) นอกจากจะมีวีดิทัศน์ดังกล่าวแล้ว ไดค์ยังนำงานนำเสนอ PowerPoint Presentation เรื่องพิณเปี๊ยะแทรกในดีวีดีดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นที่มาของการเผยแพร่วีดิทัศน์ดังกล่าวในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2559 ไดค์มีอายุ 77 ปี อาศัยอยู่ที่เมืองแอซโซเน็ท รัฐแมสซาชูเสตส์ เขายังคงทำงานเกี่ยวกับดนตรีล้านนา ทั้งด้านข้อมูลเสียง และงานนำเสนอเกี่ยวกับประสบการณ์ทางดนตรีอันทรงคุณค่าของเขา และได้มอบข้อมูลดนตรีล้านนาคืนสู่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยมีนายสงกรานต์ สมจันทร์ เดินทางไปรับมอบ และจัดทำเป็น “หอจดหมายเหตุดนตรีล้านนาเจอรัลด์ ไดค์ (Gerald P. Dyck Ethnomusicology Archive of Lanna Music)” สามารถเข้าถึงได้จาก www.music.cmru.ac.th/archive

หอจดหมายเหตุดนตรีล้านนาเจอรัลด์ ไดค์
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

Комментарии

Информация по комментариям в разработке