AP LAW 58 "พินัยกรรม คืออะไร"

Описание к видео AP LAW 58 "พินัยกรรม คืออะไร"

AP LAW 58 "พินัยกรรม คืออะไร"
พินัยกรรม คือการที่บุคคลหนึ่งแสดงเจตนาเผื่อตายในกิจการต่างๆ เช่น ทรัพย์สินหรือกิจการต่าง ๆ ของผู้นั้น โดยจะต้องทำตามแบบที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนด
.
โดยแบบของพินัยกรรมจะมี 5 แบบ ดังนี้ ได้แก่
1. พินัยกรรมธรรมดา ตามมาตรา 1656 โดยจะต้องทำเป็นหนังสือ เขียนหรือพิมพ์ก็ได้ ลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรม และต้องมีพยาน 2 คนลงชื่อรับรอง โดยผู้ทำพินัยกรรมนั้นจะลงชื่อหรือประทับลายนิ้วมือก็ได้ แต่ห้ามมิให้ใช้ตราประทับแทนการลงชื่อ ในส่วนของพยานนั้นจะต้องลงลายมือชื่ออย่างเดียว ไม่สามารถพิมพ์ลายนิ้วมือหรือใช้วิธีการอื่นๆ ได้
.
2. พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ จะอยู่ในมาตรา 1657 โดยพินัยกรรมแบบนี้ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนพินัยกรรมเองทั้งฉบับ ลงวันเดือนปี และลงชื่อผู้ทำพินัยกรรม โดยพินัยกรรมแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีพยาน 2 คนลงชื่อรับรอง โดยพินัยกรรมประเภทนี้จะต้องเขียนเองทั้งฉบับ จะพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์หรือเครื่องพิมพ์ดีดไม่ได้ เพราะหากใช้วิธีการพิมพ์ จะกลายเป็นพินัยกรรมธรรมดาตามมาตรา 1656 อ้างอิงจากคำพิพากษาฎีกาที่ 2102/2551
.
3. พินัยกรรมฝ่ายเมือง จะอยู่ในมาตรา 1658 พินัยกรรมประเภทนี้จะต้องทำที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต โดยผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งข้อความให้เจ้าหน้าที่ของที่ว่าการอำเภอจดบันทึกต่อหน้าพยาน 2 คน เมื่อมีการจดบันทึกแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องอ่านข้อความในพินัยกรรมให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง เมื่อถูกต้องแล้ว ผู้ทำพินัยกรรมและพยานจะต้องลงชื่อในพินัยกรรมนั้น และเจ้าหน้าที่จะต้องลงชื่อพร้อมประทับตราตำแหน่งด้วย โดยพินัยกรรมฝ่ายเมืองนั้นจะทำนอกที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตก็ได้เมื่อมีการร้องขอ ตามมาตรา 1659
.
4. พินัยกรรมเอกสารลับ จะอยู่ในมาตรา 1660 คือผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงชื่อในพินัยกรรม และนำพินัยกรรมใส่ซองปิดผนึกพร้อมพยาน 2 คนไปยังที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตเพื่อให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้จดข้อความแล้วก็ให้ประทับตราตำแหน่งลงบนซองพินัยกรรม พร้อมทั้งให้ผู้ทำพินัยกรรม พยาน และเจ้าหน้าที่ลงชื่อบนซองนั้น โดยซองปิดผนึกพินัยกรรมนั้นจะต้องลงชื่อผู้ทำพินัยกรรมคาบรอยปิดผนึกไว้
.
5. พินัยกรรมวาจา จะอยู่ในมาตรา 1663 พินัยกรรมนี้จะต้องทำลงในกรณีที่เกิดสงคราม โรคระบาด ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย โดยผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแสดงเจตนาทำพินัยกรรมต่อหน้าพยาน 2 คนซึ่งอยู่พร้อมกันในที่นั้น และพยาน 2 คนนั้นจะต้องไปแสดงตนต่อที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตเพื่อแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งด้วยวาจา วันเดือนปี สถานที่และพฤติการณ์พิเศษ ให้เจ้าหน้าที่จดไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่จดข้อความแล้วให้พยาน 2 คนนั้นลงชื่อ
.
กล่าวโดยสรุป พินัยกรรม คือการแสดงเจตนาเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินและกิจการอื่นๆ ของผู้ทำพินัยกรรม โดยจะต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด หากฝ่าฝืน พินัยกรรมจะตกเป็นโมฆะ และถ้าหากมีการทำพินัยกรรมหลายฉบับ ฉบับหลังจะเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรก

เนื้อหาโดย
กิตตินันท์ จารุกิจไพศาล
Paralegal
น.บ. (ธรรมศาสตร์)

Комментарии

Информация по комментариям в разработке