พระเนื้อชินสนิมแดง เจาะลึก เทียบเนื้อพระ 3 ยุค

Описание к видео พระเนื้อชินสนิมแดง เจาะลึก เทียบเนื้อพระ 3 ยุค

รู้ไว้... ไม่โดน
พระเนื้อชินสนิมแดง ๓ ยุค
#พระเครื่อง #พระเนื้อชิน #พระกรุ

คลิปนี้ ๔ มีนาจึงอยากทำคลิปเล่าวิธีดูพระเนื้อชินสนิมแดง และได้อาราธนาพระ ๓ ยุค มาพิจารณาเนื้อหากันว่า มีธรรมชาติ และมีความแตกต่างกันอย่างไร หากพี่ๆ เพื่อนๆ ได้ประโยชน์จากคลิปนี้ ฝากกดติดตาม กดไลค์ และแชร์ความรู้ดีๆ เป็นธรรมทานนะครับ

เราจะเริ่มต้นที่พระเนื้อชินตะกั่ว โดย ๔ มีนาจะใช้พระ ๔ องค์เป็นตัวอย่าง ที่ใช้หลายองค์ เพราะพี่ๆ เพื่อนๆ จะได้เห็นภาพไขและสนิมแดงและสนิมเขียวชัดๆ ซึ่งทั้ง ๔ องค์ที่เป็นเนื้อชินตะกั่ว มีอายุประมาณ ๑๕๐ ปี ซึ่งไขและสนิมจะยังขึ้นไม่เยอะมาก พระแต่ละองค์จะมีมวลสารหลักคือ ตะกั่วนม ส่วนมวลสารรองและแร่แฝง จะมีผลทำให้การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของเนื้อพระแตกต่างกันออกไปนะครับ

ก่อนอื่นเรามารู้จักพระเนื้อชินสนิมแดง หรือเนื้อตะกั่วสนิมแดงกันก่อนนะครับ
พระเนื้อชิน จะแบ่งเป็น ชินเงิน และชินตะกั่ว ขึ้นอยู่สัดส่วนของแร่หลักคือ เงิน ดีบุก หรือว่าตะกั่ว

สำหรับพระเนื้อชินตะกั่ว คือพระที่มีส่วนผสมของตะกั่วเป็นหลัก
ธรรมชาติตะกั่ว เมื่อผ่านกาลเวลา จะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ขึ้นเป็นสนิมแดง สนิมเขียว หรือมีลักษณะออกไปทางใด ขึ้นอยู่กับมวลสารรอง แร่แฝง สภาพการเก็บในกรุ และการใช้งาน

ส่วนผสมและมวลสารที่ใช้สร้างพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง จะใช้ตะกั่วนมเป็นหลัก รองลงมาเป็นดีบุก เงิน และแร่แฝงอื่นๆ เช่น สังฆวานร หรือกลุ่มแร่รักษา เช่น สังกะสี กำมะถัน แร่จุนสี ซึ่งหมอยาโบราณมักใช้ในการฆ่าเชื้อ รักษาแผล และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยต้านพิษ
และแร่ตะกั่วนม หรือตะกั่วขาวนี้เองที่ทำให้เกิดเป็นสนิมแดง ถ้ามีส่วนผสมของแร่ทองแดงมากหน่อย ก็จะเกิดออกไซด์ขึ้นเป็นสนิมเขียวครับได้ครับ

ธรรมชาติของแร่ตะกั่ว จะมีการคงสภาพหรือคงทนน้อยกว่าแร่ดีบุกหรือแร่เงิน เพราะธรรมชาติของตะกั่วเป็นโลหะเนื้ออ่อน เกิดสนิมหรือออกไซด์ได้มากกว่าเงินหรือดีบุก จึงมีความสึกกร่อนได้มากกว่า
และธรรมชาติของแร่ตะกั่วจะเกิดเป็นสนิมสีแดงและที่มีไข จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะเวลา การเก็บรักษา และการใช้งาน
ดังนั้น หลักการพิจารณาพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง เราจะต้องดูไข และสนิมแดงที่เกิดขึ้น

พระเนื้อชินตะกั่ว อายุ ๑๕๐ ปี เนื้อตะกั่วเมื่อผ่านเวลามานาน จะมีสีเข้มขึ้น สนิมและไขจะเกิดขึ้นทั่วไปมากหรือน้อยได้ทั้งองค์พระ ในพื้นที่ทั่วไปยังมองเห็นเนื้อตะกั่วได้อยู่ควบคู่ไปกับเนื้อพระที่ต้องมีความเก่า มีสีเข้มอ่อนปะปนกัน และเริ่มเห็นการสึกกร่อนไปตามธรรมชาติ
ทั้งไขและสนิมจะต้องค่อยๆ เกิดขึ้นจากในเนื้อ เป็นการปูดออกมา มีลักษณะเป็นเม็ดๆ ต้องไม่ใช่การโปะเข้าไปหรือทาสีเป็นปื้นๆ หรือเป็นการทำนูนหรือร่องสนิมในพิมพ์

ทั้ง ๒ อย่างนี้จะเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน บางจุดจะยังแยกกันอยู่ บางจุดจะผสมกัน
ขึ้นทับซ้อนกันเป็นวงไปเรื่อยๆ ในวงไขมีสนิม ในวงสนิมมีไข และบนไขมีสนิม บนสนิมก็มีไข ยิ่งพระที่มีการใช้ติดตัว ผ่านความชื้นมากๆ ก็จะเกิดไขและสนิมได้มากขึ้น

ถัดมาเป็นพระท่ากระดาน เป็นพระเนื้อชินตะกั่ว อายุประมาณ ๖๐๐ ปี เราจะเห็นว่าเนื้อพระมีไขและสนิมคลุมผิวเกือบทั่วทั้งหมด ไขจะขึ้นจนดูหนา เนื้อพระจะดูแห้ง ด้าน แต่ส่องเนื้อแล้วจะต้องเห็นความฉ่ำของไข เพราะส่วนที่เป็นไขและไขปนสนิมจะฉ่ำและนวลตา ตามร่องหรือรอยกระเทาะจะมีไขขึ้นค่อนข้างหนากว่า

ธรรมชาติของสนิม จะขึ้นเป็นจุดๆ ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ และจุดที่มีสนิมมากเนื้อพระจะมีการสึกกร่อนมากกว่า สีของสนิมต้องมีเก่าและที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้เราจะเห็นเป็นสีเหลือง ส้ม แดงผสมผสานปะปนกันในแต่ละพื้นที่ อย่างน้อยพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดงของพี่ๆ เพื่อนๆ ควรจะเจอจุดใดจุดหนึ่ง หรือหลายๆ จุดบนองค์พระมีลักษณะนี้นะครับ

ไขอายุประมาณ ๖๐๐ ปีต้องดูซึ้งนวลตาสีของไขจะเป็นสีขาวอมเหลือง ต้องมีสีเข้มอ่อนปะปนกัน และจะต้องมีความหนาบางในแต่ละจุดไม่เท่ากันเพราะว่าไขก็จะขึ้นทับซ้อนตัวเองไปเรื่อยๆ ผสมกับสีของสนิม คือ เหลือง ส้ม แดง
และเมื่อไขและสนิมเกิดขึ้นจากในเนื้อไปพร้อมๆ กัน เราไม่ควรจะเห็นจุดเริ่มต้นหรือขอบพื้นที่ของไขและสนิมบนองค์พระ เหมือนเป็นการทาสีหรือแต่งสี แต่ถ้าจะมี ก็อาจจะมีในบริเวณที่มีรอยปริแยกไดันะครับ

และเมื่อพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ผ่านเวลามานาน ๘๐๐ ปี เช่น พระพุทธชินราชใบเสมา ซึ่งเป็นพระที่มีความบางกว่าพระปิดตาและพระท่ากระดาน ความสึกกร่อนจะเกิดขึ้นได้มากกว่า
พระเนื้อชินที่มีความบางที่สุดที่ ๔ มีนาเคยพบ คือพระปรุหนัง ที่เป็นพระเนื้อชินตะกั่ว สุดยอดพระมหาอุตม์แห่งยุคอยุธยา อายุประมาณ ๖๐๐ ปี ที่เคยทำคลิปไว้ เป็นพระที่มีความบางมากๆ และน่าจะมีส่วนผสมของเงินและดีบุกน้อย จึงมีความผุกร่อนมากเป็นพิเศษ

พระพุทธชินราชใบเสมา อายุ ๘๐๐ ปี ทั้งไขและสนิมขึ้นคลุมองค์พระทั่วทั้งองค์ สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ เนื้อพระจะมีความแห้งกว่าพระท่ากระดานมาก
เนื้อพระในจุดที่แห้งมากๆ รวมถึงตามขอบและมุมจะเกิดการปริแยก ปะทุออกมาก หรือที่เรียกว่าเนื้อระเบิด ต้องดูให้เป็นการปริแยกออกจากภายในนะครับ
ในส่วนที่ไขยังพอมีความฉ่ำอยู่ เนื้อจะระเบิดหรือปริแยกน้อยกว่า เนื้อพระในร่องที่มีความบางมากว่า ถึงจะไม่มีการปริแยก ก็จะต้องมีความกร่อนในทุกจุด

การดูพระเครื่อง เราต้องพิจารณาพุทธศิลป์ขององค์พระ เพื่อประเมินอายุพระก่อน แล้วค่อยวิเคราะห์ธรรมชาติของเนื้อพระ และการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติตามอายุพระ ธรรมชาติและอายุของพระเครื่องต้องไม่ขัดแย้งกัน

หวังว่าจะได้ประโยชน์จากคลิปนี้ ดูพื้นฐานพระได้เองเป็น มีพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดงไว้ใช้กันนะครับ
ฝากกดติดตามช่อง ๔ มีนา กดไลค์ คอมเมนท์มาทักทายกัน หรือแชร์ความรู้ดีๆ เป็นธรรมทาน
แขวนพระแท้มีพุทธคุณดีๆ กันนะครับ พระแท้อาจจะไม่ได้หายากเท่าพระแพง
ขอบคุณที่ติดตามรับชม แล้วไว้พบกันใหม่ สุขกาย สุขใจครับ

Комментарии

Информация по комментариям в разработке