เขมรไทรโยค | ระนาดเอก (+เปียโน) | ไทยเดิม by Fino the Ranad

Описание к видео เขมรไทรโยค | ระนาดเอก (+เปียโน) | ไทยเดิม by Fino the Ranad

เชิญรับฟังเพลงไทยเดิม "เขมรไทรโยค" ในเวอร์ชั่นระนาดเอก (+เปียโน) แบบฉบับ Fino the Ranad กันครับ ในครั้งนี้ขอนำเสนอเพลงเขมรไทรโยคในทำนองที่ไม่ค่อยได้ยินบรรเลงกันบ่อยนัก นั่นคือทาง ตำหนักปลายเนิน (วังคลองตัน ทางฝั่งธนฯ ทางบ้านพาทยโกศล ก็เรียก) ซึ่งเข้าใจกันว่า เป็นทำนองที่มีความใกล้เคียงทำนองดั้งเดิม (อ้างอิง ศ. เกียรติคุณ นพ. พูนพิศ อมาตยกุล) ซึ่งจะมีทำนองบางช่วงที่แตกต่างจากที่นิยมบรรเลงกันในปัจจุบัน แต่ก็ไพเราะไปอีกแบบ

"บรรยายความตามไท้เสด็จยาตร ยังไทรโยคประพาสพนาสณฑ์"

ระนาดเอก: Fino the Ranad
เปียโน: ‪@tonxpiano‬

ดาวน์โหลดโน้ตเพลงเขมรไทรโยคทางวังปลายเนิน: กลุ่มเฟซบุ๊ก คนระนาดเอก   / 647162609563724  

FACEBOOK (Fino the Ranad):   / finotheranad  
INSTAGRAM (Finomenonn):   / finomenonn  

___

ประวัติเพลง
(คัดย่อจาก “100 ปี เพลงเขมรไทรโยค” ของอาจารย์มนตรี ตราโมท ที่เขียนลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2531)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสตำบลไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วยเจ้านายและข้าราชบริพาธเป็นขบวนใหญ่ถึง 2 ครั้ง คือ ใน พ.ศ. 2420 ครั้งหนึ่ง และ พ.ศ. 2431 อีกครั้งหนึ่ง

อันระยะทางตั้งแต่ลำน้ำแควน้อยไปจนกว่าจะถึงตำบลไทรโยคน้อย ล้วนเป็นทัศนียภาพอันเกิดจากธรรมชาติที่งดงามอย่างประหลาด ในลำน้ำที่มีทั้งเรี่ยว แก่ง เกาะ มากมาย สองฟากฝั่งก็มีพฤกษชาตินานาชนิด ภูเขา น้ำพุ และสัตว์ป่าส่งเสียงวิเวกวังเวง ล้วนแต่สิ่งที่นำอารมณ์ของกวีและศิลปินให้บังเกิดสุนทรียภาพในห้วงลึก และสร้างสรรค์สิ่งนั้นแสดงออกมาตามวิชาการของแต่ละท่าน

ส่วนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์นั้น ขณะที่โดยเสด็จพระราชดำเนินในครั้งแรก (พ.ศ. 2420) มีพระชนมมายุเพียง 14 พรรษา แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงมีพระนิสัย โปรดทางดนตรีปี่พาทย์แต่ทรงพระเยาว์ แม้ในการโดยเสด็จคราวนั้นก็ยังคงนำเอาผืนระนาดเอกม้วนใส่เรือไปด้วย เวลาต้องพระประสงค์จะตีก็คลี่ผืนระนาดนั้นผูกกับกราบเรือแทนรางระนาด นัยว่าทรงขยันในการตีระนาดเสียด้วย ไม่ว่าขึ้นพักแห่งใด ถึงเวลาว่างก็มักจะทรงตีระนาดเล่นเสมอๆ จนถึงแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤติธาดา ซึ่งมักประทับอยู่ด้วยกันแทบทุกแห่ง รับสั่งบ่นว่า “องค์จิตรนี่แหละตีระนาดหนวกหูพิลึก” การที่ได้ทรงโดยเสด็จพระราชดำเนินในครั้งแรกนี่ บรรดาความงามความเพลิดเพลินของสถนที่และเสียงสัตว์นานาชนิด ก็ยังคงติดพระหฤทัยของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ตลอดมา

ลุ พ.ศ. 2431 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ กำลังทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการอยู่ ในปีนั้นก็มีกำหนดว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสไทรโยคในตอนปลายปี เพราะฉะนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ อันมีหน้าที่จะต้องจัดตั้งวงดนตรีลขับร้องถวาย ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งจะมีในเดือนกันยายนปีนั้น ถึงทรงปรับปรุงวงดนตรีในรูปวงมโหรี แต่ก็มีซอฝรั่วผสมด้วยคันหนึ่งมีคนร้องทั้งหญิงและชาย คนร้องหญิงโดยมากเป็นคนของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ( ม.ร.ว.หลาน กุญชร ) และคนร้องฝ่ายชายเป็นทหารมหาดเล็ก…

ส่วนผู้บรรเลงเป็นทหารมหาดเล็ก ทหารหน้า ทหารรักษาพระองค์ และกรมยุทธนาธิการ นอกจากทรงปรับปรุงกำหนดเพลาที่จะขับร้องและบรรเลงจากเพลงเก่าแล้วยังทรงแต่งเพลงขึ้นใหม่อีกเพลงหนึ่ง โดยมีพระประสงค์ที่จะโฆษณาถึงความงาม ความเพลิดเพลิน อันมีอยู่ในระหว่างทางจนถึงตำบลไทรโยคที่มีกำหนดการว่าจะเสด็จพระราชดำเนินประพาสในปลายปีนั้นด้วย

ทำนองเพลงที่ทรงแต่งขึ้นนั้น ได้ทรงนำทำนองเพลงเขมรกล่อมลูก 2 ชั้นของเก่ามาเป็นหลัก แล้วทรงแต่งขยายทำนองขึ้นเป็นอัตรา 3 ชั้น ตามแบบแผนทฤษฎีของการแต่งเพลงไทย แต่แล้วทรงเห็นว่าหากยึดหลักทำนองเขมรกล่อมลูกให้ถูกต้องโดยตรงไปจนตลอดเพลง ความไพเราะอาจจะหย่อนไป จึงทรงแยกย้ายขยายทำนองให้กว้างขวางออกไป จนบางแห่งก็ไกลจากพื้นทำนองเพลงเขมรกล่อมลูกไปบ้าง แต่ยังทรงเรียกชื่อว่า “เขมรกล่อมลูก”

ส่วนบทร้องก็ทรงนำเอาความทรงจำตั้งแต่โดยเสด็จพระราชดำเนินครั้งแรกมาเป็นแนวทางพระนิพนธ์ บทที่ทรงพระนิพนธ์ครั้งแรกเป็นดังนี้

บรรยายยามตามแห่เสด็จยาตร
ยังไทรโยคประพาสพนาสณฑ์
น้องเอยเจ้าไม่เคยเห็น

ไม้ไล่หลายพรรค์คละขึ้นปะปน
ที่ชายชลเขาชะโงกเป็นโตรกธาร
น้ำพุพุ่งส้าเสียงฉ่าฉาดฉาน
เห็นตระการมันไหลคะโครมโครม
มันไหลจ็อกจ็อกจ็อกจ็อกคะโครมโครม

น้ำไหลใจนดูหมู่มัศยา
กี่เหล่าหลายว่ายมาก็เห็นโฉม
น้องเอยเจ้าไม่เคยเห็น

ยินปักษาซ้องเสียงพียงประโคม
ในยามเย็นพยับโพยมร้องเรียกรัง
ฝูงนกยูงทองเสียงร้องโด่งดัง
หูเราฟังมันดังกะโต้งโฮง
มันดังกอกกอกกอกกอกกะโต๊งโฮง

ได้นำออกบรรเลงถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นครั้งแรกในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2431 ก็เป็นที่พอพระราชหฤทัยและได้รับความนิยมจากผู้ที่ได้ฟังเป็นอันมา กับทำให้ยิ่งเกิดความกระหายใคร่ที่จะตามเสด็จกันอย่างยิ่ง

ส่วนชื่อเพลงนั้น พระองค์ท่านผู้ทรงนิพนธ์ก็ทรงเรียกอยู่ว่า “เขมรกล่อมลูก” แต่เนื่องจากนักร้องบ้างนักดนตรีบ้าง และผู้ที่ได้ยินได้ฟังเป็นที่พอใจบ้าง ซึ่งไม่ทราบว่าชื่อเพลงอะไรก็มักจะไต่ถามหรือปรารภถึงว่า “เพลงเขมรอะไรนะที่มีไทรโยค” หรืออะไรทำนองนี้ ในที่สุดก็เรียกกันเป็นที่หมายรู้ว่า “เขมรไทรโยค” และก็กลายเป็นชื่อเพลงไป ซึ่งเป็นที่ชื่อที่ประชาชนผู้สนใจแท้ๆ เป็นผู้แต่ง เพราะเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ฟังแล้วรู้สึกประทับใจ และเห็นความงามของทัศนียภาพแห่งไทรโยคได้อย่างซาบซึ้งเป็นเพลงอมตะของไทยแท้เพลงหนึ่ง

#เขมรไทรโยค #ระนาดเอก #FinoTheRanad

Комментарии

Информация по комментариям в разработке