สุพรรณภูมิ หรือ สุพรรณบุรี ข้อสงสัยข้อโต้แย้งที่มีมานาน ในแถบอุษาคเนย์ในยุคโบราณเมื่อราว2,500ปีก่อน

Описание к видео สุพรรณภูมิ หรือ สุพรรณบุรี ข้อสงสัยข้อโต้แย้งที่มีมานาน ในแถบอุษาคเนย์ในยุคโบราณเมื่อราว2,500ปีก่อน

#สุวรรณภูมิ #สุพรรณภูมิ #สุพรรณบุรี
.
รัฐสุพรรณภูมิเป็นรัฐโบราณซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตกจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน
หนึ่งในหลายๆ รัฐที่ก่อกำเนิดสืบเนื่องมาจากดินแดน “สุวรรณภูมิ” ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์โบราณเช่น มหาราชวงศ์พงศาวดารลังกา ชาดกพุทธศาสนาในอินเดีย หรือนิทานเปอร์เซีย เป็นต้น โดยเป็นคำที่ใช้เรื่องดินแดนในแถบอุษาคเนย์ในยุคโบราณอย่างกว้างๆ เมื่อราว ๒,๕๐๐ ปีก่อน
.
โดยดินแดนแถบนี้ได้มีการติดต่อทำการค้าขายกับต่างประเทศทั้งทางฝั่งตะวันออกอย่างจีนและตะวันตกอย่างอินเดีย-เปอร์เซียมาตั้งแต่ยุคโบราณ และมีการรับวัฒนธรรมรวมถึงการตั้งรกรากของกลุ่มชาติพันธุ์จากทั้งสองฝั่งด้วย
.
สันนิษฐานกันว่าดินแดนในสุวรรณภูมิที่เติบโตอยู่ในระดับที่เรียกว่า “รัฐ” เป็นแห่งแรกคือที่เมืองอู่ทอง (อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี)โดยพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากในรูปแบบของลูกปัด เหรียญเงิน เครื่องประดับจากกรีกโรมัน และมีร่องรอยของลำน้ำใหญ่ซึ่งเรือสินค้าจากทะเลมาทอดสมอหน้าเมืองได้ จึงสันนิษฐานว่าเมืองอูทองใน #สมัยโบราณ น่าจะเป็นเมืองที่ติดทะเล และเป็นศูนย์กลางทางการค้าในฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยานี้ ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๕๐๐
จริงๆ แล้วชื่อ "อู่ทอง" ก็มีความหมายเดียวกับ "สุวรรณภูมิ" นั่นเอง
.
อารยธรรมของอู่ทองแพร่ขยายออกไปทางตะวันตกตลอดลุ่มแม่น้ำจระเข้สามพัน ต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำทวน (จ.กาญจนบุรี) และขึ้นเหนือไปทางแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำท่าว้า-ท่าคอย (แม่น้ำท่าจีนเก่า)
.
เมื่อเวลาผ่านไป สันนิษฐานว่าเมืองอู่ทองเสื่อมลงไป เพราะเริ่มมีการทับถมของดินตะกอนทำให้น้ำทะเลตื้นเขิน จึงเกิดรัฐใหม่ที่ติดทะเลมากขึ้นอย่างเช่น นครชัยศรี (นครปฐมโบราณ) เมืองคูบัวในจังหวัดราชบุรี ในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และทวารวดี ซึ่งมีศูนย์กลางที่ละโว้ทางฝั่งตะวันออก
.
บริเวณนี้กลับมาเฟื่องฟูในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ จีนมีนโยบายทำการค้าทางทะเลกับหัวเมืองแถบอุษาคเนย์มากขึ้นทำให้มีเมืองท่าใกล้ทะเลก่อกำเนิดจำนวนมาก และมีการก่อกำเนิดเมืองในดินแดนภายในแผ่นดินแดนใหญ่มากขึ้นเพื่อเป็นการตอบสนองต่อการขยายของเส้นทางการค้า เพราะมีความจำเป็นที่ต้องการสินค้าหรือของป่าจากดินแดนภายในไปขายให้ต่างประเทศ
.
ในช่วงเวลานี้สันนิษฐานว่าการย้ายถิ่นฐานของผู้คนจำนวนมาก ผู้คนที่พูดภาษาตระกูลไท-ลาว ได้อพยพจากสองฝั่งโขง ล่องมาตามแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง และเริ่มตั้งรกรากในแถบจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน โดยมีการพบเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินคร่อมแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน)
.
ซึ่งสันนิษฐานกันว่าภาษาไทได้ลงมาแพร่กระจายในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้โดยคนกลุ่มนี้ เพราะพบว่าสำเนียงภาษาพูดของชนพื้นเมืองตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำยมที่สุโขทัย ลงมายังแถบฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างสุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี (หรือที่เรียกกันว่า "เหน่อสุพรรณ") มีความใกล้เคียงกับสำเนียงลาวหลวงพระบาง
และน่าจะได้รับประเพณีวัฒนธรรมจากทางสองฝั่งโขงมาด้วย ซึ่งยังปรากฏอยู่ในรูปของวรรณกรรมอย่างโองการแช่งน้ำ ซึ่งปรากฏว่าใช้คำไท-ลาวโบราณจำนวนมาก และแต่งด้วยฉันทลักษณ์โคลงห้าซึ่งนิยมกันในสองฝั่งโขง ก่อนจะถ่ายทอดเข้าไปในราชสำนักอยุทธยาภายหลัง ก่อนที่จะแผ่ขยายลงใต้ไปยังเพชรบุรีและนครศรีธรรมราชต่อไป
โดยดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำท่าจีนนี้ได้พัฒนาเป็นรัฐที่ในเอกสารของจีนเรียกว่า "เจินหลี่ฟู่" (Chen-li-fu) ซึ่งได้พัฒนาต่อมาเป็นรัฐ “สุพรรณภูมิ”
.
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ละโว้หรือรัฐกัมโพช ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเขมร แต่เนื่องจากแม่น้ำลพบุรีติ้นเขินลงทำให้การคมนาคมไม่สะดวกก็ได้ย้ายศูนย์กลางมาอยู่ที่อโยธยาศรีรามเทพนครแทน นอกจากนี้รัฐลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีการผลักดันให้ก็เกิดรัฐทางตอนเหนือซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางการขึ้นเช่น สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย โยนก แพร่ น่าน
.
รัฐหลายๆ รัฐที่ได้ก่อกำเนิดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดียว แต่มีความสัมพันธ์กันโดยตลอด เช่นการติดต่อค้าขาย การมีความสัมพันธ์ทางการแต่งงานเป็นเครือญาติกัน
.
สำหรับชื่อสุพรรณภูมิ น่าจะใช้ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘- ปรากฏหลักฐานชื่อนี้เก่าแก่ที่สุดในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ระบุชื่อว่า “สูพรณณภูม” และพบในจารึกลานทองวัดส่องคบ พ.ศ.๑๙๕๑ ว่า “สฺริสุพรฺนฺนภูม (ศรีสุพรรณภูมิ)” สันนิษฐานว่าเป็นชื่อที่สืบทอดมาจากดินแดน “สุวรรณภูมิ” โบราณ ซึ่งมีความหมายว่า “แผ่นดินทอง” สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรของดินแดนแถบนี้ในเอกสารประเภท “ตำนาน” อย่างพงศาวดารเหนือซึ่งมีการเรียบเรียงตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุทธยา ก็ได้ระบุชื่ออื่นๆ บ้างเช่น “พันธุมบุรี” หรือ “สองพันบุรี”
“ขณะนั้นพระเจ้ากาแต เปนเชื้อมาแต่นเรศร์หงษาวดี ได้มาเสวยราชสมบัติ แล้วมาบุรณวัดโปรดสัตววัดหนึ่ง วัดภูเขาทองวัดหนึ่ง วัดใหญ่วัดหนึ่ง สามวัดนี้แล้ว จึงให้มอญน้อยเปนเชื้อมาแต่พระองค์ ออกไปสร้างวัดสนามไชย แล้วมาบุรณวัดพระปาเลไลยในวัดลานมะขวิด แขวงเมืองพันธุมบุรีนั้น ข้าราชการบุรณวัดแล้ว ก็ชวนกันบวชเสียสิ้นสองพันคน จึงขนานนามเมืองใหม่ชื่อว่าเมืองสองพันบุรี แล้วพระองค์จึงยกนาเปนส่วนสัดวัดไว้”
.
แต่เนื่องด้วยพงศาวดารเหนือมีความเป็น “ตำนาน” อยู่มาก ความที่ปรากฏจึงคงมีเค้าความจริงอยู่บ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด (อย่างนเรศร์หงษาวดี จริงๆ คือเอาเรื่องของพระมหาอุปราชาที่ชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวรมาลง) น่าจะมีความเคลื่อนและปะปนกับตำนานอื่นๆ อยู่มาก
.
สำหรับผู้เขียนคิดว่าชื่อเหล่านี้น่าจะเพี้ยนมาจาก “สุพรรณภูมิ” หรือ “สุพรรณบุรี” มากกว่า ดังปรากฏว่าชื่อเมืองสุพรรณบุรี ในเอกสารสมัยรัชกาลที่ ๑ สะกด “สุพันทบุรีย”
.
เรื่องเล่าจากบันทึก เล่าเรื่องต่างๆที่มีสาระและน่าสนใจ ประวัติศาสตร์ ประวัติบุคคลสำคัญต่างๆ รวมถึงธรรมะคำสอนต่างๆ

Комментарии

Информация по комментариям в разработке