ชัวร์ก่อนแชร์ : เตือน “ดื้อโบท็อกซ์” เพราะฉีดบ่อย จริงหรือ ?

Описание к видео ชัวร์ก่อนแชร์ : เตือน “ดื้อโบท็อกซ์” เพราะฉีดบ่อย จริงหรือ ?

18 ก.พ.65 - บนสังคมออนไลน์แชร์ข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ “ดื้อโบท็อกซ์” ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้โบท็อกซ์ในระยะยาวได้ เรื่องนี้จริงหรือไม่ ติดตามกับคุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ จากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์

🎯 ตรวจสอบกับ ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา
อาจารย์ประจำภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2565
🔎 ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์

-----------------------------------------------------

📌 สรุป : ✅ ชัวร์ แชร์ได้ ✅

Q : “ดื้อโบท็อกซ์” มีจริงไหม ?
A : มีจริง โดยเฉพาะ 4-5 ปีหลัง เรามีคนไข้มารายงาน
หรือสงสัยว่าตัวเองจะเกิดการดื้อโบทูลินัมท็อกซินมากขึ้นเรื่อย ๆ
ดื้อโบท็อกเกิดจากอะไร
เวลาร่างกายเราได้รับสิ่งแปลกปลอมอะไรมาสักอย่าง
ก็จะมีกลไกการปกป้องตัวเองโดยการสร้างบางอย่าง
มาต่อต้านต่อสิ่งแปลกปลอมนั้น
โบทูลินัมท็อกซินถือเป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย
คราวนี้พอถึงจุดนึงที่ภูมิคุ้มกันต่อโบทูลินัมท็อกซินเยอะมาก
เวลาเรารับหรือเวลาเราฉีดโบทูลินัมท็อกซินเข้ามาอีก
โบทูลินัมท็อกซินก็ถูกต่อต้านไปเรียบร้อยแล้ว
ไม่เกิดผลใด ๆ ทั้งสิ้น

Q : แล้วอาการดื้อโบท็อกซ์นี่เป็นยังไง ?
A : เริ่มจากการไม่ค่อยตอบสนองอย่างที่ควร
เช่น ฉีดรอยย่นหน้าผาก จากเดิมฉีดสมมติ 10 ยูนิต อยู่ได้ 3 เดือน
กลายเป็นว่าฉีด 10 ยูนิตอยู่ได้ 3 เดือนก็จริง
แต่รอยย่นมันหายไปน้อยลง
หรือว่าออกฤทธิ์ แค่ 2 เดือน เดือนครึ่ง
ถ้าเรายังฉีดต่อไปเรื่อย ๆ แบบไม่ถูกวิธี
มันก็จะทำให้เราตอบสนองลดลง
จนกระทั่งถึงจุดที่มันไม่ตอบสนองเลย
อันเนี่ยเราก็จะบอกได้ว่าคนไข้ดื้อโบทูลินัมท็อกซินแบบสมบูรณ์

Q : สรุปสาเหตุสำคัญของการดื้อโบท็อกซ์ ?
A : งานวิจัยที่ตีพิมพ์ไปเมื่อ 2019
เราเจอว่าปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้คนดื้อได้ก็คือ
1.ฉีดปริมาณเยอะ
2.ฉีดบ่อยแล้วอาจจะเป็นไปได้ว่า
3.ฉีดสะสมมาเป็นเวลานาน ๆ
แล้วอันสุดท้ายการฉีดโบทูลินัมท็อกซิน
ยี่ห้อที่มีสารปลอมปนเยอะ ๆ
มันก็จะกระตุ้นให้ร่างกายเราสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา
ต่อต้านมันเยอะมากขึ้น

Q : แล้วต้องฉีดแค่ไหนถึงจะดื้อ ?
A : ก็คือคนที่ฉีดต่อครั้งเกิน 50 ยูนิต ถี่กว่า 3 เดือน
และฉีดรวม ๆ เกิน 500 ยูนิต
แต่อันนี้ขึ้นอยู่กับยี่ห้อด้วยนะคะ
บางยี่ห้อมีวิธีนับจำนวนยูนิตที่แตกต่างกัน

Q : แล้วอายุผู้ฉีดมีผลต่อการดื้อโบท็อกซ์ไหม ?
A : ไม่ได้เกี่ยวกับการดื้อโดยตรง
ไม่ได้หมายความว่าคนอายุน้อยจะดื้อมากกว่าคนอายุมาก
สิ่งที่เกี่ยวน่าจะเป็นที่ระยะเวลาในการฉีด
กับปริมาณการสะสมของการฉีด
แน่นอนคนที่เริ่มฉีดมาตั้งแต่อายุน้อย ๆ จนมาถึงปัจจุบัน
ก็น่าจะฉีดสะสมมาเยอะกว่าคนที่เริ่มฉีดตอนอายุมาก

Q : แต่หลายคนก็คิดว่า การดื้อโบท็อกซ์ ก็ไม่เห็นเป็นอันตรายอะไร ?
A : ถ้าเราเป็นคนที่ไม่ได้มีโรคที่มีความจำเป็นที่
ต้องรักษาด้วยโบทูลินัมท็อกซินก็ไม่เห็นเป็นไร
แต่ต้องคิดอย่างนี้ว่า วันนึงเราเกิดเป็นโรคอะไร
ที่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
ที่จะต้องใช้โบทูลินัมท็อกซินในการรักษา
อันนี้แหละค่ะจะเป็นปัญหาใหญ่

Q : ที่สำคัญ ดื้อแล้ว ดื้อทั่วร่างกาย ?
A : ถึงแม้ว่าเราจะฉีดโบทูลินัมท็อกซินเฉพาะความงามที่หน้า
พอเกิดดื้อขึ้นมาเสร็จแล้วเราจำเป็นต้องฉีดเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้อที่ตัว
คนไข้ที่มีผลดื้อแล้วก็จะดื้อเช่นเดียวกันเพราะการดื้อไปทั่วร่างกาย

Q : การเปลี่ยนสถานที่ฉีดจะมีส่วนทำให้ดื้อไหม ?
A : เปลี่ยนสถานที่ฉีดไม่ได้เป็นปัญหา
ตราบเท่าที่เรารู้ว่าผลิตภัณฑ์ที่เราฉีดนั้นคืออะไร ปลอดภัยหรือเปล่า
และปริมาณการฉีดแต่ละครั้งปริมาณสักเท่าไหร่
ดังนั้นถ้าอยากจะใช้ผลิตภัณฑ์อย่างปลอดภัย
ก็ควรที่จะต้องเก็บข้อมูลพวกนี้ไว้
การฉีดในคลินิก คลินิกเดียว จะมีข้อดีก็คือ
หมอคนที่ชฉีดให้จะมีประวัติอย่างละเอียดว่า
คนไข้แต่ละคนได้ฉีดตรงตำแหน่งไหนจุดไหนยังไงบ้าง

Q : การดื้อโบท็อกซ์แก้ได้ไหม ?
A : รออย่างเดียว ซึ่งจากงานวิจัยต้องรออย่างน้อย 4 ปีเลย
ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าอยากจะสวยแล้วรึเปล่า

Q : สำหรับคนที่กังวลว่าจะดื้อโบท็อกซ์ อาจารย์แนะนำไว้แบบนี้ ?
A : ถ้าสมมติว่าเป็นคนที่ฉีดโบทูลินัมท็อกซินอยู่แล้ว
จะรู้ตัวเองเลยว่าทำไมหลัง ๆ ฉีดแล้วไม่ค่อยได้ผล
แต่ถ้าอยากจะได้การวินิจฉัยที่แน่นอน
สามารถที่จะไปพบแพทย์และขอตรวจเลือด
เพื่อทดสอบว่าท่านมีสารต่อต้านโบทูลินัมท็อกซิน
ในเลือดของท่านหรือเปล่า

Q : แล้วเราจะตรวจเลือดเพื่อทดสอบ
สารต่อต้านโบท็อกซ์ได้ที่ไหนบ้าง ?
A : ในช่วงแรก ๆ คนไข้ต้องมาตรวจที่ศิริราช
เพราะว่าศิริราชเนี่ยเป็นสถาบันที่ทำวิจัยเรื่องนี้
เป็นที่แรกในประเทศไทย
แต่ ณ ปัจจุบัน เราร่วมมือกับคลินิกต่าง ๆ
ก็จะมีคลินิกที่มารับการอบรมวิธีการเก็บเลือด วิธีการตรวจ
แล้วเรามีบริษัทรับส่งเลือดให้ คุณหมอตามคลินิกหลาย ๆ แห่ง
ก็สามารถที่จะเจาะเลือดของคนไข้แล้วก็มาทำแล็บที่ศิริราช
และศิริราชรายงานผลไป

Q : แนะนำการฉีดโบท็อกซ์อย่างปลอดภัย ?
A : 1. เลือกผลิตภัณฑ์ที่คิดว่ากระตุ้นให้เกิดการดื้อน้อยที่สุด
2. เว้นระยะห่างการฉีด อย่าฉีดถี่เกินไป
3-4 เดือนฉีดสักครั้งหนึ่ง และก็อันสุดท้าย
3. ฉีดเท่าที่จำเป็น ฉีดในส่วนที่มันดูน่าจะฉีดจริง ๆ
อันนี้ก็จะต้องบาลานซ์ระหว่างความต้องการของคนไข้
และความเห็นของคุณหมอด้วยค่ะ

Q : สรุปแล้วเรื่องดื้อโบท็อกซ์นี่เป็นอย่างไร ?
A : การดื้อโบทูลินัมท็อกซินมีอยู่จริง
กรณีที่เราคิดว่าเราจะใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ๆ
หรือเรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้
ก็ควรใช้อย่างระมัดระวัง ซึ่งถ้าเราปฏิบัติได้ตามเนี่ย
เราก็จะสามารถใช้โบทูลินัมท็อกซินไปได้ยาว ๆ

👉 การเข้าใจถึงสาเหตุ ทำให้เราป้องกันการเกิดผลร้ายได้ก่อน

#ชัวร์ก่อนแชร์ #sureandshare
-----------------------------------------------------

🎯 หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ "ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์" 🎯
LINE | @SureAndShare หรือคลิก http://line.me/ti/p/%40sureandshare
FB |   / sureandshare  
IG |   / sureandshare  
TikTok |   / sureandshare  

Комментарии

Информация по комментариям в разработке