ฎีกา InTrend EP.21 ไถ่ถอนจำนองแล้วโอนขายที่ดินไป จะผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้หรือไม่

Описание к видео ฎีกา InTrend EP.21 ไถ่ถอนจำนองแล้วโอนขายที่ดินไป จะผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้หรือไม่

ฎีกา InTrend Ep.21 ไถ่ถอนจำนองแล้วโอนขายที่ดินไป จะผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้หรือไม่

The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี

หากเราเป็นเจ้าหนี้ แน่นอนว่าเราต้องการให้ได้รับชำระหนี้ที่ค้างอยู่ แต่การที่จะเอาทรัพย์สินของลูกหนี้มาบังคับชำระหนี้ให้ครบถ้วนก็มักประสบปัญหาอยู่เสมอ การกระทำลักษณะหนึ่งของลูกหนี้คือการที่อาจจะโอนทรัพย์สินของตนไปให้บุคคลอื่น ทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้กับทรัพย์สินนั้นได้ การกระทำทำนองนี้มีปัญหาที่ต้องคิดอยู่เสมอทั้งในฝั่งลูกหนี้และเจ้าหนี้คือจะเข้าข่ายการกระทำความผิดอาญาที่เรียกว่า “โกงเจ้าหนี้” หรือไม่ ปัญหาที่จะนำมาพูดคุยในตอนนี้เป็นกรณีที่ลูกหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินผืนหนึ่งของตนแล้วนำไปโอนขายต่อให้บุคคลอื่นจะถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่
นางไก่เป็นหนี้เงินกู้อยู่กับนางบัวจำนวน 2,000,000 บาท เมื่อนางไก่ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด นางบัวจึงฟ้องนางไก่เป็นจำเลย แต่ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าว นางไก่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนางบัวได้และขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม แต่ปรากฏว่านางไก่ก็ยังไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวอีก นางบัวจึงได้ดำเนินการบังคับคดีและได้ยึดที่ดินผืนหนึ่งของนางไก่ออกขายทอดตลาด แต่ยังได้เงินมาชำระหนี้ไม่ครบถ้วน
นอกจากที่ดินผืนดังกล่าว นางไก่ยังมีที่ดินอีกผืนหนึ่ง แต่ที่ดินผืนที่สองนี้ติดจำนองอยู่กับธนาคาร โดยมีวงเงินจำนอง 1,000,000 บาท ต่อมานางไก่ได้ไปขอไถ่ถอนจำนองที่ดินผืนดังกล่าวจากธนาคารโดยชำระหนี้ส่วนที่ค้างจนครบจำนวน 900,000 บาท แล้วจดทะเบียนโอนขายไปให้แก่นางสายในราคา 1,000,000 บาทไปในวันเดียวกันกับที่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองนั้น เมื่อนางบัวทราบเรื่องจึงได้มาฟ้องนางไก่เป็นคดีอาญาอ้างว่าเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ เพราะนอกจากที่ดินที่ขายไปแล้ว นางไก่ไม่มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ได้อีกแล้ว
ในกรณีที่จะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น หากกล่าวโดยย่อคงจะพอบอกได้ว่าจะต้องเป็นกรณีที่ปรากฏว่าคนที่เป็นลูกหนี้ได้ย้าย ซ่อนเร้นหรือโอนทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของตนไป หรืออาจจะแกล้งเป็นหนี้บางอย่างที่ไม่มีอยู่จริง โดยการกระทำของลูกหนี้รายนั้นต้องทำไปโดยมีเจตนาที่จะให้เจ้าหนี้ของตนไม่ได้รับชำระหนี้ที่มีอยู่ เจ้าหนี้รายดังกล่าวจะต้องเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิทางศาลซึ่งก็คือการที่จะไปฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อบังคับชำระหนี้ที่ค้างอยู่นั้น หากปรากฏพฤติการณ์ลักษณะนี้ การกระทำของลูกหนี้รายนี้ก็จะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ที่อาจต้องรับโทษทางอาญาได้
ความเป็นเจ้าหนี้ของนางบัวในกรณีนี้คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะนางบัวเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ใช้สิทธิฟ้องคดีจนกระทั่งมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้นางไก่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อตกลงของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว นางบัวจึงเป็นเจ้าหนี้ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในเรื่องความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ปัญหาที่สำคัญคือ การที่นางไก่ไถ่ถอนจำนองแล้วโอนขายที่ดินผืนดังกล่าวให้นางสายไปนั้นจะถือเป็นการโอนทรัพย์สินเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนคือนางบัวได้รับชำระหนี้หรือไม่
หากเป็นทรัพย์สินปกติที่ไม่ได้ติดจำนองแล้วนางไก่โอนขายไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งขายไปในราคาต่ำกว่าราคาในท้องตลาด หรือโอนยกให้ลูกหลานหรือญาติพี่น้องไปเสียเลยอาจจะเห็นได้ไม่ยากว่ากรณีลักษณะดังกล่าวนี้เข้าข่ายที่ส่อไปในทางที่จะเป็นการโกงเจ้าหนี้ได้ไม่ยาก เพราะเมื่อโอนไปแล้วเจ้าหนี้ย่อมจะบังคับชำระหนี้ยึดเอาที่ดินดังกล่าวไปขายทอดตลาดเหมือนที่ดินผืนแรกที่ขายไปแล้วไม่ได้ทันที หากจะทำก็ต้องไปฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนโอนนั้นอีกซึ่งเพิ่มความยุ่งยากและเสียเวลาอีกมาก
กรณีที่เป็นจุดสำคัญของคดีนี้คงเป็นการที่ที่ดินผืนที่สองนี้เป็นที่ดินที่นางไก่จดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคาร ซึ่งตามปกติในแนวปฏิบัติธนาคารอาจจะเก็บโฉนดหรือเอกสารสิทธิของที่ดินไว้ที่ธนาคาร การจะไปจดทะเบียนทำนิติกรรมอะไรเกี่ยวกับที่ดินผืนนั้นก็ทำได้ยากโดยสภาพอยู่แล้ว แต่ประการสำคัญคือการที่ที่ดินติดจำนอง แม้นางบัวจะยึดที่ดินผืนนี้ไปขายทอดตลาด ตามกฎหมายแล้วเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก็ต้องนำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จำนองก่อนที่จะชำระให้แก่นางบัวที่เป็นเจ้าหนี้สามัญที่ไม่มีหลักประกันใด ๆ เมื่อดูจากจำนวนเงินที่ต้องใช้ในการไถ่ถอนและราคาที่ขายแล้วก็ใกล้เคียงกัน หากขายทอดตลาดก็อาจได้เงินไม่ต่างจากราคานี้เท่าใด สุดท้ายก็คงไม่มีเงินเหลือไปถึงนางบัวอยู่ดี
ในการไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนโอนขายในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าทำไปในวันเดียวกันซึ่งก็คงเป็นธุรกรรมปกติที่เงินที่นางไก่ใช้ในการไถ่ถอนจำนองก็คือเงินที่ได้จากการขายที่ดินให้แก่นางสายนั่นเอง ไม่ใช่เงินที่นางไก่มีอยู่มาก่อนแล้ว ทำให้การจดทะเบียนทั้งไถ่ถอนจำนองและการขายจึงทำไปในคราวเดียวกัน เพราะคนขายก็ย่อมต้องรอให้พร้อมที่จะจดทะเบียนโอนได้ก่อนจึงจะยอมจ่ายเงินให้ จำนวนเงินที่ไถ่ถอนจำนองและราคาขายที่ดินก็เป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ไม่มีข้อเท็จจริงที่บ่งชี้อะไรว่าราคาที่ขายนั้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แม้จะมีส่วนต่างอยู่บ้าง แต่ตามปกติของการซื้อขายก็อาจมีค่าใช้จ่ายอื่นเช่นการเสียค่านายหน้าหรือค่าธรรมเนียมการโอน ด้วยเหตุนี้เอง การไถ่ถอนจำนองและการจดทะเบียนโอนขายในกรณีนี้ของนางไก่จึงเป็นเพียงการขายที่ดินเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามปกติ ไม่ถือว่าเป็นการโกงเจ้าหนี้ที่จะมีความผิดอาญา
แม้ในกรณีนี้จะไม่ถือเป็นการโกงเจ้าหนี้ แต่สำหรับผู้ที่เป็นลูกหนี้ก็คงต้องเป็นข้อที่ต้องระวังเช่นกัน หากรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้กำลังจะดำเนินการบังคับชำระหนี้หรือได้ดำเนินการแล้ว หากไปยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินที่ส่อว่าทำเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ลูกหนี้รายนั้นก็เสี่ยงที่จะถือว่าทำการโกงเจ้าหนี้ที่อาจเป็นเหตุให้ต้องรับโทษทางอาญาก็ได้

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6427/2562)

Комментарии

Информация по комментариям в разработке