การแสดงละครใน เรื่องอิเหนา ตอนอิเหนา จินตะหรา มาหยารัศมี สการะวาตีชมสวน

Описание к видео การแสดงละครใน เรื่องอิเหนา ตอนอิเหนา จินตะหรา มาหยารัศมี สการะวาตีชมสวน

การแสดงนาฏศิลป์ไทย ภายในงานเฉลิมพระเกียรติ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประจำปี ๒๕๖๗ ณ โรงละครกลางแจ้งกฤษฎารณฤทธิ์ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม วัน เสาร์ ที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๗
บทละครใน เรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์เป็นกลอนบทละครสำหรับใช้แสดงละครใน โดยทรงศึกษารวบรวมข้อมูลมาจากบทละครพระนิพนธ์ใน เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลและเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎ พระราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ทั้งสิ้น ๔๕ เล่มสมุดไทย เมื่อพระราชนิพนธ์เสร็จ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้คณะละครในผู้ชาย ในสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ที่ได้รับตกทอดมาจาก สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเชษฐาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ นำบทละครในเรื่องอิเหนาที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมาใหม่นี้ ลองนำไปประดิษฐ์ท่ารำและทดลองแสดง จนมีนักแสดงที่มีชื่อเสียงขึ้นมาถึงสองท่าน ได้แก่ ครูทองอยู่ อิเหนา ครูรุ่ง บุษบา และโปรดเกล้าฯให้ละครของกรมหลวงพิทักษมนตรีเข้ามาสอนกระบวนท่ารำละครเรื่องอิเหนานี้แก่ละครหลวงในพระองค์

เรื่องอิเหนาแต่เดิมนั้นเป็นนิทานที่เล่ากันมากในประเทศชวา (อินโดนีเซีย) บางที่เรียกนิทานปันหยี เป็นนิทานอิงประวัติศาสตร์ มีเค้าโครงเรื่องจากพงศาวดารชวา มีมากมายหลายสำนวน นิทานอิเหนาสันนิษฐานว่าเข้ามาในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยหญิงเชลยปัตตานีผู้เป็นข้าหลวงรับใช้เจ้าฟ้ากุณฑล และเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งได้เล่าถวาย จากนั้นพระราชธิดาทั้งสองทรงแต่งเป็นบทละครเรียกว่าอิเหนาเล็ก (อิเหนา) และ อิเหนาใหญ่ (ดาหลัง) ดังมีบันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์อิเหนาของพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นเพลงยาวในตอนท้ายตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ในปีพ.ศ. ๒๔๕๙ วรรณคดีสโมสรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยกย่องให้บทละครใน เรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่าเป็นยอดแห่งบทละครรำ เพราะเป็นหนังสือที่แต่งดี มีลีลาภาษาที่ สละสลวยและงดงาม ทั้งยังให้ความรู้ด้านประเพณีไทยโบราณอีกด้วย

การแสดงละครใน เรื่องอิเหนา ตอนอิเหนา นางจินตะหรา นางสะการะวาดี และนางมาหยารัศมี หรือตอนนางจินตะหราพาอิเหนาไปชมสวนนี้ เนื้อเรื่องกล่าวถึงหลังจากที่ อิเหนาพระราชโอรสท้าวกุเรปัน เมื่อครั้งท้าวกุเรปันบัญชาให้อิเหนาคุมเครื่องสักการะไปเคารพพระศพพระอัยยิกา ณ เมืองหมันหยา อิเหนาจึงได้พบกับนางจินตะหรา พระราชธิดาของท้าวหมันหยา อิเหนาหลงรักนางจินตะหราจนไม่ยอมกลับเมือง จนท้าวกุเรปันต้องเรียกตัวกลับโดยอ้างว่าประไหมสุหรีทรงครรภ์แก่แล้ว แต่เมื่อประไหมสุหรีประสูติพระธิดาวิยะดาแล้วอิเหนาก็ออกอุบาย ขอออกประพาสป่าโดยปลอมเป็นโจรป่าชื่อว่า ปันหยี ระหว่างเดินทางเข้าเมืองหมันหยา ปันหยีได้ฆ่าระตูบุศสิหนาตาย ระตูปันจะรากันและระตูปักมาหงันพี่ชายระตูบุศสิหนาขอยอมสวามิภักดิ์และยกโอรส ธิดา ได้แก่ นางสะการะวาดี นางมาหยารัศมี และสังคามาระตา แก่ปันหยี เมื่ออิเหนาเสด็จเข้าเมืองหมันหยาและได้นางจินตะหราเป็นชายาแล้วก็เล่าความเบื้องหลังที่ได้สองราชธิดาและโอรสมาจากสองระตู นางจินตะหรานึกสงสารจึงรับสองนางและสังคามาระตาเข้าเมือง อิเหนาได้จินตะหราเป็นชายา พร้อมกับนางมาหยารัศมีกับนางสะการะวาดีเป็นพระชายารอง และรับสังคามาระตาเป็นพระอนุชา หลังจากนั้นอิเหนาก็ประทับอยู่กับสามนางยังเมืองหมันหยาไม่ยอมเสด็จกลับเมืองกุเรปันตามคำสั่งพระราชบิดาและยังบอกตัดตุนาหนังกับนางบุษบา พระราชธิดาท้าวดาหา วันหนึ่งนางจินตะหนาได้ทูลเชิญอิเหนาให้เสด็จไปยังสะตาหมัน(พระราชอุทยาน)ด้วยถึงช่วงฤดูที่พรรณพฤกษากำลังออกดอกเบ่งบาน พร้อมด้วยนางสะการะวาดี นางมาหยารัศมี และสังคามาระตา อิเหนาจึงได้ตรัสสั่งสังคามาระตาให้ไปจัดเตรียมขบวนเสด็จ แล้วทั้งหมดก็ได้เสด็จประพาสยังสะตาหมันเมืองหมันยาจนเย็นย่ำจึงเสด็จกลับ

รูปแบบการแสดง
เป็นการแสดงละครในที่มีท่ารำงาม นักแสดงงาม และคำร้องทำนองงาม ตามแบบแผนของละครใน กระบวนท่ารำเป็นการรำตีบทตามคำร้อง และตีสัมพันธ์บทระหว่างตัวละครที่บรรยายถึงความงามของสะตาหมันหรือพระราชอุทยานของเมืองหมันหยาที่มีพันธุ์พฤกษาเบ่งบาน และบรรยายถึงเหตุการณ์ที่อิเหนาเที่ยวชมอุทยานไปกับพระราชชายาทั้งสามจนเย็นย่ำจึงเสด็จกลับวัง

อำนวยการแสดง โดย นางประกอบ ลาภเกษร
ปรับปรุงบท โดย นายประเมษฐ์ บุณยะชัย ศิลปินแห่งชาติ
บรรจุเพลง โดย นางสาวทัศนีย์ ขุนทอง ศิลปินแห่งชาติ
นำแสดงโดย
อิเหนา - นางสาวนภัสวรรณ สือสกุล
จินตะหรา - นางสาววิชญาพร สุขเกษม
มาหยารัศมี - เด็กหญิงชนานันท์ สังเรืองเดช
สะการะวาดี - เด็กหญิงธนพร โตเงิน
สังคามาระตา - เด็กหญิงอินธีวรา แสนสุดสวาท
และยุวศิลปิน ในอุปถัมภ์ของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ฯ
*บทการแสดงอยู่ในคอมเมนต์นะจ๊ะ จำนวนคำยาวเกิน / หรือ
  / 1567041067169967  

Комментарии

Информация по комментариям в разработке