คิดถึง - ขับร้องโดย เจตนา นาควัชระ

Описание к видео คิดถึง - ขับร้องโดย เจตนา นาควัชระ

เพราะรักจึงสมัครเข้ามาเล่น/ร้อง (12)
-------------------------------------------------

ผมมีปัญหากับเพลง คิดถึง มันซื่อ ใส พร้อมออดอ้อน โอดครวญ จะร้องอย่างไรดี ครูเอื้อท่านมีบุคลิกภาพที่เหมาะกับเพลงนี้เป็นอย่างยิ่ง (เขาว่ากันว่าท่านออดอ้อนในชีวิตจริงได้ดีนัก) การตีความใหม่มีปัญหาเสียแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่เราอัดเสียงกันที่บ้านของศาสตราจารย์ณัชชา พันธุ์เจริญ โดยมี sound engineer ระดับแนวหน้าของเมืองไทยเป็นผู้รับผิดชอบ และอาจารย์นรอรรถก็มาทำหน้าที่
โปรดิวเซอร์ให้เอง ไม่ต้องบอกก็ได้ว่า ผมประหม่าเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยอัดเสียงแบบ “โปร” อย่างนี้มาก่อนเลย เราใช้เวลา 2 ชั่วโมง อัดได้ 8 เพลงวันนั้น โดยที่ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะทำได้ จริงอยู่ อาจารย์นรอรรถให้ผมยืม backing tracks ไปซ้อมร้องที่บ้าน แต่หูฟังของผมราคาเพียง 300 บาทเท่านั้น ซึ่งผมก็ว่าดีแล้ว พอมาเจอกับไมโครโฟนและเครื่องมือการอัดเสียงที่เป็น professional จริงๆ ผมแทบจำเสียงของผมเองไม่ได้ ไหนๆ นัดกันมาแล้ว ถึงจะขยาดอย่างไรก็ต้องเดินหน้าต่อไป ผมขอลองเสียงเพลง คิดถึง 1 เที่ยว หลังจากนั้นก็อัดจริงเลย
ก่อนหน้านั้น ผมลองคิดใคร่ครวญไตร่ตรองดูเพื่อหาทางออก นั่นก็คือ ย้อนกลับไปหาสิ่งที่คุณรวงทองเคยบอกเอาไว้ในเรื่องของข้อแนะนำของครูเอื้อท่านเอง ท่านเชื่อว่า อารมณ์เพลงอยู่ในเนื้อใน คือในทำนองและคำร้องอยู่แล้ว นักร้องไม่จำเป็นต้องไปใส่อารมณ์จนเกินงาม ร้องให้เป็นธรรมชาติตามสไตล์ของตัว เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็เกาะ backing track เอาไว้ ต้องขอบอกว่า การเรียบเรียงเสียงประสานของเพลงนี้ทำให้การออดอ้อนนั้นเกิดความสง่างามขึ้นมาได้ด้วยศักยภาพของวงซิมโฟนี (ลองฟังปลายวรรคที่ลงท้ายด้วย “...ลืมแล้วหรือดวงใจ”) พอผมคลายความประหม่าก็พร้อมที่จะรับแรงหนุนจากเสียงของวงดนตรีคลาสสิกระดับแนวหน้าของประเทศไทยได้อย่างเต็มที่
มาถึงตอนนี้ นักวิชาการอดไม่ได้ที่จะต้องอ้างอิงผู้รู้มาหนุนวิธีการของเขา จะขออ้างคำพูดของวาทยกรระดับแนวหน้าของโลก Sir Colin Davis (ค.ศ. 1927-2013) ที่พูดเรื่องวิธีการกำกับดนตรีของท่านไว้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนที่น่าชมเชยยิ่ง

"สิ่งที่เราทั้งหลายควรทำก็คือ การเรียนรู้การฟัง ... ถ้าคุณฟังดนตรีให้ดี มันก็จะบอกคุณว่ามันกำลังจะพยายามทำอะไร ถ้าคุณพยายามมากเกินไปแล้วเข้าไปวุ่นวายกับมันในทางใดทางหนึ่ง ถ้าคุณมีทฤษฎีติดตัวมาว่าดนตรีจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คุณจะตกอยู่ในฐานะลำบาก คุณควรทำเพียงให้ดนตรีมันลื่นไหลไปตามทางของมัน" (บทสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ The Guardian, 12 May 2011)

เป็นอันว่า ท่านเซอร์ฝากตัวด้วยความศรัทธาไว้กับตัวคีตนิพนธ์ พวกเราที่เป็นแฟนดนตรีคลาสสิกมานานคงจะสังเกตได้ว่า วาทยกรรุ่นใหม่หลายคนพยายามให้ “ของแถม” ที่เกินไปจากเนื้อในของดนตรี ซึ่งถูกใจพระเดชพระคุณเป็นอันมาก และทำให้พวกเขาโด่งดังขึ้นมาได้ในระยะเวลาอันสั้น ผมไม่เชื่อน้ำยาคนพวกนั้น ผมมีศรัทธากับครูเอื้อและครูแก้ว และผมก็ยกย่องอาจารย์นรอรรถกับคณะที่เปิดมิติใหม่ให้กับเพลงสุนทราภรณ์ โดยไม่ทำให้ของเก่าเสียหาย
แฟนเพลงสุนทราภรณ์คงจะสงสัยว่า เหตุใดผมจึงไม่พูดถึงเบื้องหลังของเพลง ว่าเป็นเรื่องของความผิดหวังในความรักของครูแก้ว อัจฉริยะกุล และการพลัดพรากจากผู้เป็นที่รักเป็นแรงดลใจให้ท่านส่งสารแห่งความ “คิดถึง” ไปยังเธอ อันที่จริงเพื่อนรักของท่านคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ก็สนองตอบความปรารถนาของครูแก้วได้อย่างดียิ่ง ทั้งด้วยทำนองและด้วยการร้อง นอกจากนั้นก็ยังมีข้อมูลที่ว่าด้วยคำตอบของผู้เป็นที่รัก ซึ่งต้องพรากจากกันไปตลอดชีวิต อันกลายเป็นแก่นของเพลง ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง (ที่คุณรวงทอง ทองลั่นธม นำมาร้องไว้อย่างจับใจ) ผมเก็บสิ่งเหล่านั้น “เอาไว้ในใจ” ถ้ามันจะมีอิทธิพลต่อการร้องของผมก็ถือว่าเป็นคุณ
สิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับผมก็คือ ฟังเพลงให้ถึงขั้นที่จับแก่นของเพลงให้ได้ และเมื่อมีสิ่งนั้นอยู่ในโสตประสาท ก็พยายามร้องออกมาตามเนื้อในของเพลง ผู้ฟังจะเป็นผู้ตัดสินเองว่า นักร้องประสบความสำเร็จ หรือความล้มเหลว

เจตนา นาควัชระ
25 พฤษภาคม 2563

Комментарии

Информация по комментариям в разработке