การแยกยุคพระสมเด็จ ถ้าไม่รู้เรื่องนี้... ไปต่อยาก

Описание к видео การแยกยุคพระสมเด็จ ถ้าไม่รู้เรื่องนี้... ไปต่อยาก

สวัสดีครับพี่ๆ เพื่อนๆ เรื่องการแยกยุคของพระสมเด็จวัดระฆัง หลายๆ คนที่อยู่กับ ๔ มีนามานานน่าจะได้ยิน ๔ มีนาพูดบ่อยๆ ว่าเป็นพระยุคต้น ยุคกลาง หรือยุคปลาย รวมถึงนานๆ ครั้งจะมีคำว่าแท้ไม่ทันยุค

๔ มีนาจะขอนำพระสมเด็จ ๓ องค์ ๓ ยุคที่มีวรรณะใกล้เคียงกัน คือเป็นเนื้อสีขาวอมเหลืองตุ่น เพื่อเทียบให้พี่ๆ เพื่อนๆ ดูกัน #พระเครื่อง #วัตถุมงคล

เริ่มต้นกันที่ยุคต้น พิมพ์ทรงยังดูไม่สมส่วนมากนัก ธรรมชาติจะคล้ายเนื้อพระกรุวัดพลับที่มีการสร้างพระเนื้อผงและเนื้อชินมาก่อน รวมถึงวัดพลับยังมีประวัติเกี่ยวข้องกับสมเด็จโต ซึ่งถ้าสมเด็จโตท่านมีส่วนร่วมในการสร้างพระวัดพลับด้วย ก็คงไม่แปลกเกินไป พระสมเด็จยุคต้นเป็นเนื้อพระไม่ผ่านความร้อนสูง หรือไม่ผ่านการอบ เนื้ออ่อน เปราะ ฟู มีการคลุมผิวหรือแคลไซต์หนา ในพระสมเด็จยุคต้นหลายๆ องค์จะเห็นว่ามีอราโกไนต์ขึ้นเหมือนพระกรุวัดพลับ เนื้อพระเป็นเนื้อปูนเกาลีนผสมผงวิเศษ ผสมมวลสารหลักๆ เช่น แร่ ว่านยาและอื่นๆ ใช้ตัวประสานเนื้อเช่นน้ำว่าน น้ำอ้อยเคี่ยว ที่พระยุคต้นไม่อบเพื่อให้เนื้อพระเซ็ตตัวเร็ว เพราะการอบจะทำให้ว่านยาต่างๆ ไหม้หรือสลายและสูญเสียคุณสมบัติไป ประเด็นนี้พี่ๆ เพื่อนๆ ลองนึกดูนะครับ ว่าสมัยก่อน เอาแค่ย้อนกลับไป ๑๕๐ ปียังไม่มีโรงพยาบาลเต็มไปหมดเหมือนทุกวันที่ เวลาเราไม่สบาย เราจะไปที่ไหนและไปหาใคร สูตรการสร้างพระและสูตรการสร้างยามีความใกล้เคียงกันมากในหลายๆ ส่วน

ต่อมาเริ่มมีการปรับเปลี่ยนตัวประสานเนื้อและใช้ความร้อนเข้ามาเพื่อให้เนื้อพระมีความแกร่งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเนื้อพระเปราะ แตกหักง่าย เริ่มมีการผสมมวลสารในกลุ่มแร่แข็งมากขึ้นและจะเห็นเนื้อแตกลายงาเหมือนงานกังไสมากในพระยุคนี้ พิมพ์ทรงมีรายละเอียด ดูมีความสมส่วนมากขึ้น

และถัดมาเป็นยุคปลาย พิมพ์ทรงมีความสมส่วน สวยงาม คมชัด เนื้อพระผ่านการอบด้วยความร้อนสูงเหมือนงานเซรามิค เนื้อแกร่ง ไม่แตกหักง่าย การงอกคลุมผิวจะไม่หนาเท่าพระที่สร้างในยุคต้นหรือกลาง เพราะเนื้อผงปูนเซ็ตตัวด้วยความร้อนแล้ว พระสมเด็จในยุคนี้มีความหลากหลายมาก บางองค์ผงวิเศษจะน้อยลง หรือมวลสารต่างๆ หลายชนิดมากขึ้น เหมือนน่าจะมีการสร้างจำนวนมากและหลายวาระ ธรรมชาติเหมือนยุคต้นและยุคกลาง แต่ไม่ชัดเท่า เนื้อพระมีความหลากหลาย ดูยากแต่สร้างเยอะ ส่วนถ้าเป็นพระไม่ทันยุค ๔ มีนาจะดูธรรมชาติเดียวกันกับพระยุคปลาย แต่ผงวิเศษจะน้อยมากหรืออาจจะไม่เห็น

เรามาเช็คพระสมเด็จยุคต้นกันครับ พุทธศิลป์ เป็นพระพิมพ์พระพุทธ พระพักตร์รูปสี่เหลี่มข้าวหลามตัด เห็นใบหูลางๆ พระเกศดูหนาใหญ่ ช่วงลำตัวเอียงไปทางซ้ายเล็กน้อย ชายจีวรหนา ประทับในท่าสมาธิบนฐาน ๓​ ชั้นอยู่ในซุ้มโค้งเหมือนระฆังคว่ำ ลักษณะขององค์พระดูยังไม่สมส่วนดีนัก ด้านหลังเรียบ การชี้ตำหนิในพิมพ์ไม่มีครับ เพราะเราไม่มีข้อมูลที่แน่นอนว่าพระสมเด็จวัดระฆังมีกี่แม่พิมพ์ และการสร้างก็เป็นการกดพิมพ์ด้วยมือ ไม่ได้ใช้โรงงานปั๊มเอา การชี้ตำหนิในพระเก่าจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีจริง

ส่วนพิมพ์ใช้แยกยุคไม่ได้ เพราะพระสมเด็จที่มีพิมพ์เดียวกัน มีพบได้ทั้งยุคต้น ยุคกลาง ยุคปลาย รวมถึงที่แท้ไม่ทัน อันนี้ ๔​มีนาหมายถึงพิมพ์หรือพุทธศิลป์นะครับ ไม่ได้หมายความถึงชิ้นแม่พิมพ์
ส่วนพิมพ์พิเศษ หรือพิมพ์คะแนนที่ไม่ใช่พิมพ์พระประธาน เจดีย์ ฐานแซม ฐานคู่ ที่เห็นกันบ่อยๆ ที่เคยพบมา อย่างน้อยก็น่าจะเกิน ๔๐ ถึง ๕๐ พิมพ์ เผลอๆ อาจจะเกินกว่านี้ไปเยอะ ยังไม่เคยนับครับ

เนื้อพระผ่านอายุมาประมาณ ๑๗๐ ปี ธรรมชาติยังทำงานตลอดเวลาตั้งแต่ครั้งที่สร้างพระจนถึงวันนี้ ความแห้ง เนื้อเหี่ยวยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ต้องมี เนื้อพระต้องแห้ง และดูนุ่มนวลตาจากการงอกคลุมผิว ผิวพระต้องมีความเหี่ยวย่น เพราะว่าเนื้อพระผ่านอากาศหรือ oxidation ผ่านความร้อน ความเย็น เกิดความชื้นและทิ้งคราบตกผลึกสะสมตัวเป็นแคลไซต์งอกคลุมผิว มวลสารเป็นอินทรีย์วัตถุคือมวลสารที่มีการย่อยสลายได้ค่อนข้างมาก ทำให้เกิดการยุบตัว ทำให้เนื้อพระยุคต้นแทบจะไม่มีเนื้อพระจุดไหนที่เรียบตึง ลื่นมือ จะต้องดูเหี่ยวย่น งอกและหดยุบตัวเป็นลอนคลื่นทั่วทั้งองค์

การคลุมผิว
เราจะเห็นแคลไซต์คลุมผิวทั่วทั้งองค์ในพระสมเด็จยุคต้น ดูเหมือนมีเปลือกคลุมผิวจนดูฟูๆ แน่นๆ และนวลตาไม่แข็งกระด้าง การคลุมผิวเกิดจากความชื้นที่ผุดจากด้านในเนื้อพระ ผุดขึ้นมาบนผิวและตกผลึกเกิดเป็นคราบใน ไม่ใช่คราบนอกที่โปะเป็นแผ่นๆ ไม่มีจุดเริ่มต้นของคราบ เพราะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทุกจุดตามการผ่านอายุตามธรรมชาติ มีสีเข้มอ่อน มีหนาและบางไล่ระดับกันในทุกจุด จุดที่อยู่ในร่องก็มักจะเกิดการสะสมตัวหนากว่าจุดที่อยู่สูง แบบที่คราบเป็นแผ่นๆ ไม่เอานะครับ ส่วนตามร่องหรือรอยกระเทาะจะมีแคลไซต์สะสมตัวกันทั้งปากขอบและในหลุม ไม่เป็นหลุมเรียบๆ โล่งๆ

มวลสารในพระองค์นี้จะเป็นกลุ่มผงวิเศษ​ เป็นก้อนมวลสารสีขาวอมเหลืองนวลๆ
ผงและเศษใบลานสีดำ
ควอตซ์หรือแร่ทรายแก้ว เป็นก้อนแร่สีขาวใสและขุ่น ซึ่งมักพบประจำในพระเก่าเนื้อผงและเนื้อดิน
ก้อนแร่สีแดงคล้ายสีอิฐแดง และสีแดงเข้มเหมือนแร่ดอกมะขาม
ก้อนมวลสารคล้ายโลหะสีดำ
ชิ้นมวลสารสีเงิน ดูคล้ายเงินยวง ๔ มีนาคิดว่าอาจจะเป็นเศษตะไบเงิน
คราบน้ำว่านสีเข้มๆ แห้งๆ หรือเศษชิ้นว่าน
และมวลสารอื่นๆ เล็กน้อย

เนื้อพระโดยรวมจะดูฟู เพราะมีคราบแคลไซต์คลุมเป็นเปลือกผิว มีความหลากหลายเกิดขึ้นมาก เนื้อพระในจุดที่อยู่สูงและในร่องที่ระบายความชื้นได้น้อยกว่า มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ดูมีมิติลึกตื้น เนื้อพระเป็นเนื้ออ่อนเปราะ การยุบตัวในจุดต่างๆ มีค่อนข้างมาก บางครั้งจะมองเห็นมวลสารในกลุ่มว่านยาหรือเกสรดอกไม้แห้งๆ ที่ยังเหลืออยู่ในหลุมยุบ เนื้อพระสมเด็จยุคต้นเป็นเนื้อพระที่ดูง่าย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติตามอายุชัดเจน มีการคลุมผิว มีคราบน้ำว่านสีเข้มๆ แห้งๆ

Комментарии

Информация по комментариям в разработке