อานิสงส์กฐิน...มีอะไรบ้าง? โดยพระมหาภาคภูมิ สีลานนฺโท

Описание к видео อานิสงส์กฐิน...มีอะไรบ้าง? โดยพระมหาภาคภูมิ สีลานนฺโท

สอนพระวินัย เรื่อง #อานิสงส์กฐิน
อธิบาย อานิสงส์ที่เกิดจากกฐินทั้งในแง่ของวินัยคือการทีภิกษุผู้กรานกฐินและผู้อนุโมทนากฐินจะได้รับการผ่อนปรนในหลายๆ สิกขาบทและในแง่ของธรรมมีความสามัคคีเป็นต้น
ณ วัดดอนคำพวง ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี

#วินิจฉัยเรื่องอานิสงส์พรรษาและอานิสงส์กฐิน

มีพุทธพจน์ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้วกรานกฐิน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กรานกฐินแล้วจะได้อานิสงส์ ๕ อย่าง คือ
๑. อนามนฺตจาโร ไปได้โดยไม่ต้องบอก
๒. อสมาทานจาโร ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบ
๓. คณโภชนํ ฉันคณโภชนะได้
๔. ยาวทตฺถจีวรํ ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ
๕. โย จ ตตฺถ จีวรุปฺปาโท โส เนสํ ภวิสฺสติ
พวกเธอจะได้จีวรที่เกิดขึ้นในวัดนั้น
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ ๕ อย่างนี้"

อานิสงส์ ๕ อย่าง มีคำอธิบายแบบย่อๆ ดังนี้ :-
๑. #ไปได้โดยไม่ต้องบอก
นี่ได้หมายถึง จะไปไหนก็ไม่ต้องลาใคร แต่หมายถึง การผ่อนปรน #จาริตตสิกขาบท ในอเจลกวรรค คือ เมื่อภิกษุรับนิมนต์ที่ทายกออกชื่อโภชนะ ๕ อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา หรือเนื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่น นิมนต์รับข้าวเหนียวไก่ย่าง, ข้าวขาหมู เป็นต้น) ไว้บ้านหนึ่งแล้ว จะไปที่อื่นจากที่รับนิมนต์นั้น โดยไม่ได้บอกพระในวัดก่อนก็ได้ ไม่เป็นอาบัติ (ตามปรกติ หากจะทำเช่นนั้น ต้องบอกพระในวัดก่อน คือ บอกว่าจะไปบ้านไหน)

๒. #ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบ
นี่เป็นการผ่อนปรน #อุทโทสิตสิกขาบท ในจีวรวรรค คือ สามารถเก็บจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ได้โดยไม่ต้องนำจีวรติดตัวไปครบทั้ง ๓ ผืนได้โดยไม่ต้องอาบัติ (ตามปรกติ หากถือไตรครอง ต้องมีผ้าไตรอยู่ใกล้ตลอด แม้ตอนจะเข้าหมู่บ้าน ที่สำคัญคือห้ามอยู่ห่างผ้าในช่วงอรุณขึ้น)

๓. #ฉันคณโภชนะได้
นี่ไม่ได้หมายถึง ฉันเป็นวงหรือฉันเป็นหมู่ได้ เพราะพระสามารถนั่งล้อมวงฉันกันได้อยู่แล้ว ไม่มีอาบัติในเรื่องนี้ โดยอานิสงส์ข้อนี้หมายถึงเป็นการผ่อนปรน #คณโภชนสิกขาบท ในโภชนวรรค คือ พระตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ฉันอาหารที่เขานิมนต์โดยออกชื่อโภชนะได้ (เรื่องคำนิมนต์อธิบายเหมือนอานิสงส์ข้อ ๑) ไม่ต้องอาบัติ (ปรกติ หากเขานิมนต์เช่นนี้ พระ ๔ รูปขึ้นไปจะไปรับพร้อมกันแล้วมาฉันไม่ได้)

๔. #ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ
คือเป็นการผ่อนปรน #กถินสิกขาบท ในจีวรวรรค หมายถึง สามารถเก็บอดิเรกจีวร (คือผ้าที่ไม่ได้อธิษฐานหรือวิกัป) ไว้ได้เกิน ๑๐ วัน โดยไม่ต้องอาบัติ (ปรกติ เมื่อเกิน ๑๐ วันจะต้องอาบัติปาจิตตีย์และผ้าเป็นนิสสัคคีย์)

หมายเหตุ : แต่เมื่อหมดเขตอานิสงส์แล้ว หรือเมื่อกฐินเดาะแล้ว ผ้านั้นจะเป็นนิสสัคคีย์ (ของที่ต้องสละ) ทันที เพราะนับวันตั้งแต่ตอนได้ผ้ามา ดังนั้น ต้องอธิษฐานผ้าก่อนหมดอานิสงส์ ดังหลักฐานว่า

เมื่อรู้ว่า “กถินจักเดาะในวันพรุ่งนี้” ถ้าไม่อธิษฐานผ้าที่ได้มาในวันนี้ทีเดียว เมื่ออรุณขึ้น ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์
ถามว่า : เพราะเหตุใด ?
ตอบว่า :เพราะสิกขาบทกล่าวไว้ว่า นิฏฺฐิตจีวรสฺมึ เป็นต้น.
(อธิบายว่า) ในภายในกถิน ภิกษุย่อมได้การรักษาแม้เกินกว่า ๑๐ วัน แต่หลังกฐินแล้ว แม้วันเดียวก็ไม่ได้ (กงฺขา.ปุราณฏี. ๗๕)

๕. #พวกเธอจะได้จีวรที่เกิดขึ้นในวัดนั้น
คือตามปรกติ ผ้าที่เกิดแก่สงฆ์จะถึงแก่ภิกษุสามเณรทุกรูปที่อยู่ในอุปจารสีมา (เขตวัด) แต่ในกรณีกาลจีวรนี้ จะถึงเฉพาะภิกษุสามเณรที่จำพรรษาในวัดนั้นๆ เท่านั้น (ภิกษุจากที่อื่นที่มาอยู่ที่วัดภายหลัง ไม่มีสิทธิ์ในผ้านั้นด้วย)

#กาลจีวร หมายถึง ผ้าที่เกิดแก่สงฆ์ตั้งแต่วันออกพรรษาไปจนถึง ๑ เดือน สำหรับผู้จำพรรษาแต่ไม่ได้กรานกฐิน หรือตั้งแต่วันออกพรรษาไปจนถึง ๕ เดือน (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔) หรือจนกว่ากฐินจะเดาะ สำหรับผู้ได้กรานกฐิน

นี่เป็นอานิสงส์สำหรับผู้ได้กรานกฐินหรือผู้ได้อนุโมทนากฐิน แต่สำหรับผู้ที่จำพรรษาแต่ไม่ได้กรานกฐิน จะได้อานิสงส์แค่ ๔ ข้อ โดยเว้นข้อ ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบ ไป ดังหลักฐานว่า

อนึ่ง บรรดาอานิสงส์ ๕ ประการ เว้นข้อ อสมาทานจาระ (ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบ) ในเดือนจีวรเสียแล้ว พวกภิกษุผู้ไม่ได้กรานกถินย่อมได้อานิสงส์ที่เหลือ, หากจะพึงได้ข้ออสมาทานจาระด้วย พวกภิกษุชาวกรุงปาเวยยกะผู้เข้าจำพรรษาเสร็จแล้ว ก็คงไม่เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วยทั้งจีวรที่เปียกน้ำอยู่ เพราะเหตุที่ไม่ได้ข้อนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงได้ถือเอาจีวรเทียวเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค (กงฺขา.นวฏี. ๒๙๔-๕)

ติดตามในช่องทางอื่นๆ:
Facebook : เพจนานาวินิจฉัย   / mahasilananda  
Facebook : พระมหาภาคภูมิ สีลานนฺโท   / mahaparkpoom  
TikTok : พระมหาสีลานันท์   / mahasilananda  
Instagram : พระมหาสีลานันท์   / mahasilananda  

Комментарии

Информация по комментариям в разработке