พระจำพรรษารูปเดียวรับกฐินได้หรือไม่? โดยพระมหาภาคภูมิ สีลานนฺโท

Описание к видео พระจำพรรษารูปเดียวรับกฐินได้หรือไม่? โดยพระมหาภาคภูมิ สีลานนฺโท

สอนพระวินัย เรื่อง #พระจำพรรษารูปเดียวรับกฐินได้หรือไม่?
อธิบายเรื่องกฐิน ทั้งในส่วนขั้นตอนของกฐิน ภิกษุผู้มีสิทธิ์รับกฐิน และบริวารกฐิน
โดยพระมหาภาคภูมิ สีลานนฺโท
ณ วัดดอนคำพวง ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี

#อธิบายประเด็นสำคัญ
หลักฐานจากจีวรขันธกะที่ยกมา ในเนื้อเรื่องพระบาฬี ผ้าที่เขาถวายสงฆ์นั้นไม่ใช่ผ้ากฐิน แต่เป็นหลักฐานว่าภิกษุที่จำพรรษารูปเดียวนั้นได้กรานกฐินมาก่อนแล้ว ทำไมถึงทราบได้?
ตอบว่า เพราะพระองค์ตรัสว่า "ผ้านั้นเป็นของเธอผู้เดียวจนถึงคราวเดาะกฐิน" ซึ่งเป็นอานิสงส์ของกฐินข้อที่ ๕ คือ จีวรที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ในจีวรกาลจะถึงแก่ผู้จำพรรษาในวัดนั้นเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้แก่ผู้ที่จำพรรษารูปเดียวนั้น

หมายเหตุ :
นาทีที่ ๙ ในคลิปมีพูดพลาดเรื่องผ้าที่มิได้ตัดว่าจะอธิษฐานเป็นไตรจีวรไม่ขึ้น หากเก็บไว้เกิน ๑๐ วันผ้าจะเป็นนิสสัคคีย์ แก้ใหม่เป็น ถึงผ้าจะไม่ได้ตัดหรือตัดไม่ครบทุกชิ้น ก็อธิษฐานเป็นไตรจีวรขึ้น แต่จะต้องอาบัติทุกกฏเพราะใช้ผ้าไตรที่มิได้ตัด (ดู วิ.มหา.๕/๓๔๕/๑๔๙)
นาที่ที่ ๒๖.๓๕ และนาทีที่ ๓๐.๓๔ ในคลิปพูดผิดไปเรื่องผ้าที่เขาถวายสงฆ์ว่าเป็น ผ้ากฐิน แก้ใหม่เป็น #ผ้ากาลจีวร

#หลักฐานเรื่องพระจะจำพรรษากี่รูปก็รับกฐินได้

หลักฐานต่อไปนี้นำมาเฉพาะส่วนที่อธิบายกฐินขันธกะโดยตรง
ภิกฺขูนํ วุฏฺฐวสฺสานํ​​​ กถินตฺถารมพฺรวิ
ปญฺจนฺนํ อานิสํสานํ​​​ การณา มุนิปุงฺคโว.
พระมุนีผู้ประเสริฐตรัสการกรานกฐินไว้สำหรับภิกษุที่ได้จำพรรษาแล้ว เพราะเหตุแห่งอานิสงส์ ๕ ประการ (วินยวินิจฉย. ๒๗๓)

พระฎีกาจารย์ท่านอธิบายดังต่อไปนี้
พระมุนีผู้ประเสริฐ คือพระผู้มีพระภาคผู้ทรงอุดมกว่าอคาริกมุนี (ฆราวาสผู้บรรลุมรรคผล) เป็นต้นทั้งปวง ด้วยหมู่คุณทั้งมวล ตรัส คืออนุญาตการกรานกฐินว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้กรานกฐินสำหรับภิกษุที่ได้จำพรรษาแล้ว" แก่ภิกษุ คือภิกษุ ๑ รูป, ๒ รูป, ๓ รูป, ๔ รูป, ๕ รูป หรือมากกว่านั้น ซึ่งได้จำพรรษาแล้ว คือได้เข้าจำพรรษาต้น มิให้ขาดราตรี อยู่จนครบถึงวันมหาปวารณา เพราะเหตุจะได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ มีการจาริกไปไม่ต้องบอกลาเป็นต้น ซึ่งจะกล่าวต่อไป

เมื่อสงฆ์จตุวรรค (๔ รูป) โดยกำหนดอย่างต่ำ มอบผ้ากฐินให้ภิกษุผู้ควรกรานกฐินด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาแล้ว เธอผู้ควรกรานได้กรานด้วยจีวรนั้น ชื่อว่า กฐิน จึงมีได้ (จึงสำเร็จเป็นกฐิน) เมื่อไม่ได้มอบให้ กฐินก็มีไม่ได้ (ไม่สำเร็จเป็นกฐิน), ฉะนั้น เมื่อไม่ได้สงฆ์จตุวรรค แม้จะกล่าวสักพันครั้งว่า "ข้าพเจ้าถวายกฐิน" ชื่อว่ากฐิน ก็มีไม่ได้ (ไม่สำเร็จเป็นกฐิน)

เพราะฉะนั้น ในเขตพำนักที่ท่านกำหนดด้วยอุปจารสีมา (เขตวัด) มีภิกษุอยู่จำพรรษา ๑ รูป ๒ รูป ๓ รูป หรือ ๔ รูป เมื่อกฐินจีวรเกิดขึ้นในอุปจารสีมานั้น ให้หา (นิมนต์) จากที่อื่น เมื่อมีภิกษุครบจำนวน ๕ รูป คือ สงฆ์จตุวรรค + ผู้รับผ้า ๑ รูป ก็ได้กรานกฐิน, หากมีไม่ครบ ก็ไม่ได้กรานกฐิน, อย่างนี้แหละ เมื่อสงฆ์มี กฐินจึงมีได้, เมื่อสงฆ์ไม่มี กฐินก็มีไม่ได้ (วินยาลังการฎีกา ๒/๘๓)

ท่านอธิบายเหมือนกันทุกฎีกาว่า ๕ รูปที่ว่านี้ ไม่ใช่หมายถึง การกราน แต่หมายถึง สังฆกรรมมอบผ้า ดังหลักฐานว่า
เพราะข้อความที่มาในกังขาวิตรณีฎีกาว่า "ข้อความว่า ย่อมควร แก่ภิกษุ ๕ รูป หมายความว่า สมควรแก่ภิกษุ ๕ รูป คือ ๔ รูป โดยกำหนดอย่างต่ำเป็นผู้ให้ผ้ากฐิน รูป ๑ เป็นผู้รับ จึงทำให้รู้ได้ว่า บทกัตตา (บทประธาน) ของบทกิริยาว่า วฏฺฏติ ในประโยคนั้น ท่านกล่าวว่าเป็น โส กถินตฺถาโร (การกรานกฐินนั้น) ดังนั้น ด้วยคำว่า อตฺถาโร (การกรานกฐิน) นี้ ท่านมิได้มุ่งหมายถึงกิริยาการกรานที่กล่าวว่า อิมาย สงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ (ข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าสังฆาฏินี้) แต่มุ่งหมายถึงการให้ด้วยญัตติทุติยกรรมแก่ภิกษุผู้กรานหนึ่งรูป จากภิกษุผู้ให้ ๔ รูป (วินยาลังการฎีกา ๒/๑๐๘)

พระฎีกาจารย์กล่าวไว้ในวินัยวินิจฉัยฎีกาว่า
คำนี้ว่า "ภิกษุเหล่าไหนได้สิทธิ์กรานกฐิน, เหล่าไหนไม่ได้สิทธิ์กรานกฐิน? อันดับแรก ว่าด้วยจำนวน ภิกษุ ๕ เป็นอย่างต่ำ ได้สิทธิ์กรานกฐิน, มากกว่านั้น แม้พันรูปก็ได้ แต่ต่ำกว่า ๕ รูป ย่อมไม่ได้สิทธิ์" ในอรรถกถา
พระอรรถกถาจารย์กล่าวมุ่งหมายถึง #กรรมคือการให้ผ้ากฐินของสงฆ์แก่ภิกษุผู้กราน (วินยวินิจฉยฎีกา ๒/๒๑๓)

สรุปใจความจากหลักฐานทั้งหมดคือ
#ไม่ว่าพระจะจำพรรษากี่รูปก็รับกฐินได้ แค่ขั้นตอนการมอบผ้ากฐิน #ต้องหาพระมาให้ครบสงฆ์เพื่อทำสังฆกรรมมอบผ้ากฐินให้
หลักฐานที่ว่ามาเหล่านี้ล้วนแต่มาในตอนอธิบายกฐินขันธกะทั้งหมด เพื่อตอบผู้ที่แย้งว่าหลักฐานเรื่อง #พระจำพรรษารูปเดียวรับกฐินได้ ที่เคยพูดไว้นั้นมาจากจีวรขันธกะ ซึ่งถ้าท่านอ่านแล้วลองพิจารณาตามหลักฐานดูแล้ว จะเห็นว่ามิได้ขัดแย้งกันเลย หากใครยังเห็นว่า จะรับกฐินได้ ต้องจำพรรษาวัดเดียวกันเท่านั้นอย่างน้อย ๕ รูป ก็ขอจง #ยกหลักฐานจากพระบาฬีและอรรถกถา มาคุยกันดูนะว่ามีมั้ยที่ว่าต้อง ๕ รูปถึงรับกฐินได้เนี่ย เพราะเท่าที่ศึกษาพระวินัยมาไม่เคยเจอพระบาฬี อรรถกถา หรือฎีกาพระวินัยจุดใดอธิบายไว้เช่นนั้น

การพูดคุยวิชาการทางศาสนา ควรหาข้อยุติด้วยหลักฐาน
วากฺยํ สาธกวิกลํ ยํ ตํ โหติ พหฺวาครุ
คำพูดที่ปราศจากหลักฐาน
เป็นคำพูดที่ไร้น้ำหนักอย่างมาก

ติดตามในช่องทางอื่นๆ:
Facebook : เพจนานาวินิจฉัย   / mahasilananda  
Facebook : พระมหาภาคภูมิ สีลานนฺโท   / mahaparkpoom  
TikTok : พระมหาสีลานันท์   / mahasilananda  
Instagram : พระมหาสีลานันท์   / mahasilananda  

Комментарии

Информация по комментариям в разработке