เล่าเรื่องเมืองเรา EP - 01 ตอน “ประวัติการสร้างเมืองฝาง”

Описание к видео เล่าเรื่องเมืองเรา EP - 01 ตอน “ประวัติการสร้างเมืองฝาง”

เล่าเรื่อง เมืองเรา

ตอน เล่าเรื่องเมืองฝาง EP:01

“ภูมิประเทศและลักษณะทางภูมิศาสตร์”

หากจะกล่าวถึงเมืองฝางหรืออำเภอฝางในปัจจุบัน เมืองฝางตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ทิศเหนือติดอำเภอแม่อาย ทิศใต้ติดอำเภอไชยปราการ ทิศตะวันตกติดรัฐฉาน ทิศตะวันออกติดอำเภอแม่สรวย

เดิมเมืองฝางถือเป็นเมืองโบราณ เป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านเรือนของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ จากการขุดค้นทางโบราณคดีเป็นไปได้ว่าอาจมีผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ราว 1,500 ถึง 2,000 ปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชพันธุ์และเป็นแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่ตั้งแต่อดีตกาล มีแม่น้ำที่สำคัญสองสายไหลผ่าน อันได้แก่ แม่น้ำฝาง ซึ่งไหลขึ้นทิศเหนือไปจรดแม่น้ำกก ซึ่งไหลมาจากพื้นที่เทือกเขาในเมืองเชียงตุง เขตรัฐฉาน จากนั้นไหลรวมกันไปทิศตะวันออกผ่านจังหวัดเชียงราย แล้วไหลย้อนขึ้นไปทางทิศเหนือจรดแม่น้ำโขง บริเวณสบกก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

นอกจากนี้เมื่อวิเคราะห์จากแผนที่ทางภูมิศาสตร์เพิ่มเติม จะเห็นว่าเมืองฝางเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างแม่น้ำที่สำคัญในภูมิภาคสองสาย คือแม่น้ำสาละวินหรือแม่น้ำคงในสหภาพเมียนมาร์ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก กับแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก เมืองฝางจึงเป็นจุดเชื่อมต่อของผู้คนที่เดินทางระหว่างสองสายน้ำสำคัญ ผู้เดินทางในอดีตสามารถนำเรือล่องแม่น้ำโขงจากตอนใต้ของประเทศจีน เข้ามายังแม่น้ำกก และล่องทวนน้ำต่อมายังลุ่มน้ำแม่ฝางได้ ส่วนการคมนาคมทางบกก็เป็นเส้นทางของพ่อค้าวัวต่างม้าต่างจากพื้นที่รัฐฉานเข้าสู่เมืองหริภูญไชย-ลำพูนหรือเมืองเชียงใหม่ได้ทางทิศใต้ และเข้าสู่เมืองเชียงแสนหรือเชียงรายได้ทางทิศตะวันออก ด้วยเหตุนี้ เมืองฝางจึงมีลักษณะเป็นศูนย์กลางหรือชุมทางการคมนาคมมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งเป็นดินแดนที่ผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


“การตั้งถิ่นฐานในเมืองฝาง”

มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ย้อนไปในยุคราชวงส์สิงหนวัติช่วงระหว่างปี พ.ศ.600 ถึง 650 ว่า ได้มีการอพยพของชนชาว ไท-ใหญ่ ข้ามแม่น้ำสาละวินเข้ามาสร้างบ้านแปงเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จัน-แม่คำ และแม่กก จึงเป็นไปได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะมีชาว ไท-ใหญ่ เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในลุ่มน้ำแม่ฝางแล้ว ต่อมาเมื่อราชวงศ์สิงหนวัติสามารถสถาปนาอำนาจเหนือพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำกกได้สำเร็จ ก็มีการผสมผสานกันระหว่างผู้ชนชาว ไท-ใหญ่ และชาวไท-ลาว ซึ่งครองดินแดนอยู่ก่อน จนเกิดชนชาติใหม่ที่เรียกว่าชาว ไท-ยวน หรือโยนก นับแต่นั้นบริเวณลุ่มแม่น้ำฝางจึงกลายเป็นชุมชนใหญ่ของชาว ไท-ยวน สืบมา

ต่อมาปี พ.ศ.638 พระเจ้าสิงหนวัติได้สถาปนเมือง “โยนกนาคพันธุ์” ขึ้นเป็นราชธานี ซึ่งปัจจุบันเมืองดังกล่าวมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่จันและอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมืองฝางก็เป็นหนึ่งในเมืองบริวารของเมืองโยนกนาคพันธุ์ กระทั่งปี พ.ศ.1088 เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทำให้เมืองโยนกนาคพันธุ์ถล่มล่มกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ ปัจจุบันเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “เวียงหนองหล่ม” จึงเป็นจุดสิ้นสุดยุคราชวงส์สิงหนวัติ ส่วนชาวเมืองเดิมก็ได้ย้ายไปสร้างเมืองขึ้นใหม่ชื่อ “เวียงปรึกษา” ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของอำเภอเชียงแสนในปัจจุบัน

นอกจากนี้ในช่วงเวลาเดียวกัน ในตำนานมีเรื่องเล่าถึงกลุ่มชาติพันธุ์ “ลัวะ” ซึ่งเริ่มมีบันทึกว่ามีการสถาปนาราชวงศ์ลาวจักราชขึ้นประมาณปี พ.ศ.1181 โดยมี “พญาลาวจักราช” เป็นต้นราชวงค์ ซึ่งพญาลาวจักราชนี้นักวิชาการให้ความเห็นว่าพระองค์สืบเชื้อสายมาจากปู่เจ้าลาวจก ทั้งการขึ้นครองอำนาจครั้งนี้ พระองค์น่าจะได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์แห่งทวารวดีซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม ในขณะนั้นอาณาจักรทวารวดีมีเดชานุภาพมาก สามารถแผ่อิทธิพลไปยังแคว้นต่างๆ ทั่วสารทิศ

เชื่อว่าในอดีต “ปู่เจ้าลาวจก” ได้นำคนจากพื้นที่สูงบริเวณดอยตุงลงมาสร้างบ้านแปงเมืองบนพื้นราบตีนเขาเป็น “เมืองเงินยาง” ซึ่งปัจจุบันอาจเป็นเมืองเวียงพางคำ ในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย“ปู่เจ้าลาวจก” ถือเป็นต้นราชวงค์ “ลาวจักราช” ซึ่ง “พญาลาวจักราช” ได้ขึ้นเป็นใหญ่เหนืออาณาเขตเมืองโยนกนาคพันธ์ุเดิม และได้ย้ายศูนย์กลางอำนาจมาสร้างเมือง “หิรัญนครเงินยาง” หรือ “เมืองเชียงแสน” ในปัจจุบัน ต่อมาประมาณปี พ.ศ.1184 “พญาลาวจักราช” ทรงดำริให้สร้างอีกเมืองหนึ่งขึ้นมาทางตอนต้นแม่น้ำกก เมืองนี้มีรูปทรงยาวไปตามแม่น้ำคล้ายฝักไม้ฝาง จึงให้ชื่อเมืองนี้ว่า “เมืองฝาง” ในขณะนั้นเมืองฝางมีเมืองเล็กเมืองน้อยเป็นเมืองบริวารอีก 3 เมือง คือ เมืองหาง เมืองสาด และเมืองจวาดน้อย นอกจากนี้ยังให้สร้างเมืองซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างทางจากเมืองหิรัญนครเงินยางกับเมืองฝาง คือ “เมืองช้างรอย” หรือ “เมืองเชียงราย” ในปัจจุบัน โดยใช้แม่น้ำกกเป็นเส้นทางสำคัญในการคมนาคม หลังจากนั้นพระองค์ก็ได้สร้าง “เมืองร้อยเต่า” หรือ “เมืองเชียงของ” ขึ้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงอันเป็นเมืองที่เชื่อมเส้นทางการติดต่อไปยัง “เมืองเชียงทอง” หรือ “เมืองหลวงพระบาง” ในปลายสมัยของพญาลาวจักราช เมืองหิรัญนครเงินยางมีหัวเมืองสำคัญจำนวน 4 เมือง ได้แก่ “เมืองหิรัญนครเงินยาง” “เมืองฝาง” “เมืองเชียงราย” และ “เมืองเชียงของ” ตั้งอยู่ตอนใต้แม่น้ำโขง

ครั้นล่วงมาถึงรัชการที่ 18 ในรัชสมัยของ “พญาลาวเงิน” ปี พ.ศ.1639 แคว้น “หิรัญนครเงินยาง-เชียงแสน”ก็ได้ขยายตัวขึ้นอีกเท่าตัวโดยครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ อำเภองาว อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง นอกจากนี้ยังรวมถึงเมืองหาง เมืองสาด เมืองจวาด เมืองกวาน และเมืองตุม ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในรัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์


ขอขอบคุณผลงาน รวมเพลงบรรเลง ซึงหมู่ โดย ครูขวัญชัย พิพัฒน์พงษ์ ศรีคีตกรหริทาส KS Studio Chiang Mai
   • รวมบรรเลง ซึงหมู่ เพลง สร้างสรรค์ผลงา...  

Комментарии

Информация по комментариям в разработке