เล่าเรื่องเมืองเรา EP - 02 ตอน “เมืองฝาง ในยุคล้านนาตอนต้น”

Описание к видео เล่าเรื่องเมืองเรา EP - 02 ตอน “เมืองฝาง ในยุคล้านนาตอนต้น”

“เมืองฝางในยุคล้านนา”

“พ่อขุนเม็งรายมหาราช” หรือ “พญามังราย” ทรงพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ.1780 ณ เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน พระองค์เป็นพระโอรสของ “พญาลาวเม็ง” กษัตริย์องค์ที่ 24 ในราชวงศ์ลาวจักราช กับ “พระนางเทพคำข่าย” หรือ “พระนางอั๊วมิ่งจอมเมือง” ธิดาของ “ท้าวรุ่งแก่นชาย” เจ้าเมืองเชียงรุ่ง ต่อมาประมาณปี พ.ศ.1802 เมื่อพระชมมายุได้ 22 พรรษา ทรงสเด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา

ในห้วงเวลาเดียวกัน หากวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองในภูมิภาค จะเห็นได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นยุคที่อาณาจักรมองโกลเรืองอำนาจ ชาวมองโกลสามารถเข้ายึดครองประเทศจีนได้และสถาปนาราชวงศ์หยวนของตนขึ้นปกครองประเทศจีน โดยมีกุบไลข่านเป็นจักรพรรดิ์ ในครั้งนั้นปรากฏตามเอกสารของจีนว่า เมื่อปี พ.ศ.1803 กองทัพมองโกลได้ยกทัพจากภาคเหนือของประเทศจีน แผ่ขยายอำนาจลงมายังดินแดนทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเข้ารุกราน “ยูนนาน” “พม่า” และ “อันนัม” ในขณะนั้นจีนกับ “แคว้นหิรัญนครเงินยาง” หรือ “ล้านนา” หรือที่จีนเรียกว่า “ปาไป่สีฟู่” ยังไม่มีดินแดนติดต่อกัน กองทัพมองโกลของราชวงศ​​์หยวนได้ตั้งสำนักปกครออยู่ที่ยูนนานเพื่อรักษาความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน และมีนโยบายขยายอำนาจไปสู่พื้นที่ตอนบนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงพม่า ล้านนา อันนัม และลาว

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.1796 เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นคือ กองทัพมอลโกลของราชวงศ์หยวนสามารถบุกพิชิตอาณาจักรน่านเจ้าได้ แล้วตั้ง “เมืองยูนนานฟู” หรือ “เมืองคุนหมิง” เป็นศูนย์กลางการปกครองแทน “แคว้นต้าลี่” ต่อมาอุปราชแห่งยูนนานส่งฑูตมายัง “แคว้นสิบสองปันนา” และ “เมืองเชียงรุ่ง” บ้านเกิดของพระราชมารดาของพญามังรายให้ยอมสวามิภักดิ์ แต่ถูกปฏิเสธ ในปี พ.ศ.1802 กองทัพมองโกลจึงเริ่มบุกเข้าตี “เมืองเชียงรุ่ง” ซึ่งหากวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นไปได้ว่า “เมืองหิรัญนครเงินยาง-เชียงแสน” ของพญามังรายย่อมอยู่ในสภาวะการณ์ที่ไม่มั่นคง สุ่มเสี่ยงต่อการถูกทัพมองโกลเข้าโจมตี เป็นได้ว่าหากพระองค์ยังคงใช้ “เมืองหิรัญนครเงินยาง” เป็นฐานที่มั่น ก็อาจไม่สามารถต้านทัพมองโกลได้ เพราะทัพมองโกลอาจใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางการเดินเรือเข้าบุก อาจด้วยเหตุนี้ในปี พ.ศ.1805 พญามังรายจึงทรงย้ายศูนย์กลางการปกครองมาสร้าง “เมืองเชียงราย” ซึ่งมีระยะทางห่างจาก “เมืองหิรัญนครเงินยาง” ประมาณ 75 กิโลเมตร หากมองโกลจะนำทัพเรือบุก ก็ต้องแล่นทวนน้ำด้วยความยากลำบาก โดยในปีเดียวกันนั้นพญามังรายก็ได้ยกทัพเข้าตีเมืองเชียงตุงเพื่อขยายพระราชอาณาเขตด้วย

ต่อมาประมาณปี พ.ศ.1807 ปรากฏเมืองเชียงรุ่งไม่สามารถต้านกองทัพมองโกลของราชวงศ์หยวนได้ จึงต้องขอสงบศึก เป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะทำให้ “พญามังราย” เกิดความกังวลไม่น้อย ในปี พ.ศ.1808 พระองค์จึงตัดสินพระทัยนำกำลังถอยร่นลึกเข้าไปตั้งมั่นยังบริเวณต้นแม่น้ำกก เนื่องด้วยเมืองฝางมีชัยภูมิที่ดี มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การรวบรวมเสบียงไพร่พล ทั้งมีทิวเขาสูงเป็นปราการธรรมชาติ

เมื่อภายหลังปรากฏว่าสถานการณ์ในเมืองเชียงรุ่งได้คลี่คลายลง ในปี พ.ศ.1812 พญามังรายจึงใช้เมืองฝางเป็นฐานกำลัง นำทัพยกพลไปบุกตี “เมืองเชียงของ” ต่อมาปี พ.ศ.1816 ทรงนำทัพยกพลเข้าตี “เมืองเทิง” และ “เมืองลอ” ซึ่งเป็นเมืองในอาณาเขตของ “เมืองพะเยา” เข้ามาในพระราชอำนาจ โดยที่ “พญางำเมือง” มิได้ส่งกองทัพจากพะเยาเข้ามาต่อต้าน และในปลายปีนั้นทรงมอบหมายให้ “อ้ายฟ้า” หรือ “หมื่นฟ้า” เดินทางไปวางอุบายที่จะยึดเมืองหริภุณไชยลำพูนจาก “พญายีบา” โดยทรงประทับอยู่เมืองฝางจนถึง พ.ศ.1819 เมืองฝางถือเป็นเมืองหลวงชั่วคราวและเป็นฐานที่มั่นทางการทหารของพระองค์

ในปี พ.ศ.1824 “พญามังราย” ทรงนำกองทัพเชียงราย-ฝางและบรรดาหัวเมือง เดินทัพโดยใช้เส้นทางแม่สรวย-ฝาง-พร้าว เข้าสู่แคว้นหริภุญไชย-ลำพูนตามเส้นทางลำน้ำแม่ปิง “พญายีบา” ให้ “อ้ายฟ้า” นำกำลังทัพเข้าต่อต้าน แต่ด้วยแท้จริงแล้ว “อ้ายฟ้า” เป็นคนของ “พญามังราย” และกองทัพของหริภุญไชยก็มีใจออกห่าง “พญายีบา” กองทัพพญามังรายจึงสามารถบุกเข้าพิชิตเมืองหริภุญไชยลำพูนได้สำเร็จ

ปี พ.ศ.1830 กองทัพมองโกบุกยึดพุกามได้สำเร็จ เจ้าไท-ใหญ่ อาศัยอำนาจมองโกลประกาศตัวเป็นใหญ่เหนือดินแดนพุกาม ก่อให้เกิดความวุ่นวายในพม่า จึงเปิดช่องให้ “พญามังราย” นำทัพล้านนาบุกเข้าตีเมืองพุกาม

พ.ศ.1831 ราชวงศ์หยวนเริ่มขยายอำนาจเข้ารุกรานแผ่นดินล้านนา เนื่องจากล้านนาและเมืองใกล้เคียงไม่ยอมอ่อนน้อมให้จีน จีนจึงส่งกองทัพมองโกลและกองทัพท้องถิ่นยูนนานประมาณสองหมื่นนายเข้ามาปราบ “พญามังราย” ได้ร่วมกับเมืองที่อยู่ใกล้เคียงเข้าต่อสู้ ปรากฏว่าเกิดกบฏในพื้นที่ยูนนาน ประกอบกับกองทัพจีนสูญเสียไพร่พลจำนวนมากจากการทำสงครามกับพม่า จึงเป็นผลให้กองทัพที่ส่งไปปราบล้านนาพ่ายศึก ขุนนางจีนผู้นำทัพสองคนต้องถูกลงโทษประหารชีวิต การใช้กำลังทหารบังคับให้ล้านนายอมรับอำนาจของราชวงศ์หยวนจึงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้เป็นไปได้ว่า การที่พญามังรายไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์หยวนเพราะพระองค์กำลังขยายพระราชอำนาจและพระราชอาณาจักร ประกอบกับด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของอาณาจักรล้านนาที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางการปกครองของราชวงศ์หยวน มีภูเขาสูง มีผืนป่าสลับซับซ้อน การจะบุกเข้าตีอาณาจักรล้านนาต้องอาศัยกองทัพยูนนานเป็นกำลังหลัก จึงอาจเป็นเหตุผลให้พญามังรายไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่ออำนาจราชวงศ์หยวนของจีน

ต่อมาปี พ.ศ.1837 “จักรพรรดิ์กุบไลข่าน” แห่งราชวงศ์หยวนของจีนสิ้นพระชนม์ มีการแย่งชิงอำนาจภายในราชวงศ์หยวน อำนาจทางการปกครองของจีนจึงไม่มั่นคง กระทั่งต่อมา “เตมูร์ข่าน” ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ์ในราชวงศ์หยวนแทน ราชวงศ์หยวนจึงปรับวิธีการเชื่อมความสัมพันธ์กับล้านนาและเมืองชายแดนอื่นๆ โดยใช้นโยบายทางการฑูตแทนการใช้กำลังทางการทหารเป็นหลัก

ขอขอบคุณผลงาน รวมเพลงบรรเลง ซึงหมู่ โดย ครูขวัญชัย พิพัฒน์พงษ์ ศรีคีตกรหริทาส KS Studio Chiang Mai
   • รวมบรรเลง ซึงหมู่ เพลง สร้างสรรค์ผลงา...  

Комментарии

Информация по комментариям в разработке