หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ องค์เท่าไหนในอดีต?

Описание к видео หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ องค์เท่าไหนในอดีต?

หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี สูงแค่ไหน? ใหญ่แค่ไหน? เป็นคำถามที่มีมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน องค์หลวงพ่อโตในอดีตเคยถูกบูรณะมาก่อน แต่ไม่มีใครทราบได้ว่าการบูรณะมีกี่ครั้งและในแต่ละครั้งมีผลให้ขนาดเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนทั้งนี้เพราะไม่เคยมีเอกสารระบุไว้ในเรื่องนี้เลย อย่างไรก็ตามในอดีตมีผู้สนใจในเรื่องขนาดขององค์หลวงพ่อโตได้ทำการบันทึกไว้อย่างน้อยสามครั้ง ดังนี้
.
ปี พ.ศ. 2387 เสมียนมีระบุในนิราศสุพรรณว่า "สังเกตดูทั่วองค์ทรงสัณฐาน สูงประมาณเจ็ดวาสาธุสะ"
ปี พ.ศ. 2441 (วันที่ 9 สิงหาคม) สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ระบุว่า "คราวนี้ได้วัดขนาดพระป่าเลไลยได้ความดังนี้ ส่วนสูงพระบาทถึงพระเกษ 9 วา 2 ศอก พระอังษาถึงพระเกษสูง 3 วา 3 ศอก...(อื่นๆ ดูจากในภาพในช่องแสดงความคิดเห็น)"
ปี พ.ศ. 2499 (พิมพ์ 2507) พระครูรักขิตวันมุนี(หลวงพ่อถิร) ระบุว่า "สูง 23 เมตร 48 เซนติเมตร พระรัศมี 3.02 เมตร..(อื่นๆ ดูจากในภาพในช่องแสดงความคิดเห็น)"
.
จะเห็นว่าขนาดขององค์หลวงพ่อโตถูกบันทึกไว้ต่างกัน ทั้งนี้เพราะวิธีการวัดและหน่วยวัดที่แตกต่างกัน ในส่วนของเสมียนมีถึงแม้เป็นประมาณด้วยสายตาแต่ก็มีความพิเศษเพราะเป็นบันทึกที่เกิดขึ้นก่อนจะมีการบูรณะวิหารและองค์หลวงพ่อโต แต่ก็มีข้อด้อยเรื่องความแม่นยำ ในส่วนของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านไม่ได้ระบุวิธีการวัดเอาไว้ แต่เป็นการวัดจริงๆ โดยใช้หน่วยวัดของไทย ทั้งการสังเกตุของเสมียนมีและของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชาฯ ก็ยังมีปัญหาอยู่ว่าหน่วยวัด วา ศอก คืบ ในสมัยนั้นๆ นั้นยังไม่มีการนำมาตรฐานมาใช้ ระยะวาหรือศอกของแต่ละคนยังมีความแตกต่างกันอยู่ (ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 สยามจึงมีพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด ออกมา โดยกำหนดให้ 1 วาเท่ากับ 2 เมตร และ 1 ศอก เท่ากับ 0.5 เมตร)
.
ถ้ายึดตาม พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 ความสูงของหลวงพ่อโตจากการประมาณด้วยสายตาของเสมียนมี เท่ากับ 14 เมตรเท่านั้น ในขณะที่ความสูงจากพระบาทถึงพระเกษ (เข้าใจว่าไม่รวมพระรัศมี) ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จะเท่ากับ 19 เมตร เมื่อลองนำความสูงที่วัดโดยพระครูรักขิตวันมุนี(หลวงพ่อถิร) (ไม่ทราบว่าทำการวัดปีไหน แต่อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2499 - 2507) ความสูงทั้งองค์ 23.48 เมตร หักออกด้วยส่วนสูงของรัศมี 3.02 เมตร จะได้ผลลัพธ์ความสูงจากพระบาทถึงพระเกษเท่ากับ 20.46 เมตร ซึ่งต่างจากของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ บันทึกไว้ราวๆ 1.46 เมตร ทั้งนี้อาจเนื่องจากการวัด "พระบาทถึงพระเกษ" ในคราวปี พ.ศ. 2441 ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ นั้น อาจไม่ได้รวมส่วนของพระอุษณีษะเข้าไปด้วย
.
ดังนั้นการบูรณะในสมัยต้นรัชกาลที่ 4 จะมีการเปลี่ยนแปลงขนาดหลวงพ่อโตให้สูงขึ้น ใหญ่ขึ้น ด้วยหรือไม่ จึงยังไม่สามารถบอกได้จากข้อมูลที่มีแต่เพียงเท่านี้
.
ชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณ
ปัญชลิต โชติกเสถียร
สมยศ ดวงประทีป
31 พฤศภาคม 2564

Комментарии

Информация по комментариям в разработке