ลักษณะบุคคล "ผู้บรรลุธรรม ผู้มีดวงตาเห็นธรรม" เสียงธรรม โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

Описание к видео ลักษณะบุคคล "ผู้บรรลุธรรม ผู้มีดวงตาเห็นธรรม" เสียงธรรม โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

แบ่งปันบันทึกเสียงหลวงปู่ฤาษีลิงดำ เรื่อง ผู้บรรลธรรม ผู้มีดวงตาเห็นธรรม จะต้องมีลักษณะอย่างไร

ดวงตาเห็นธรรม คือ การเห็นตามความเป็นจริงของธรรมชาติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีการดับไปเป็นธรรมดา เป็นภูมิธรรม ของ พระโสดาบัน

ขอหยิบยก แนวทางแห่งการ “บรรลุธรรม” ไม่ต้องอาศัยตัวหนังสือหรือคำพูด เพราะทุกสิ่งเป็นธรรมชาติอยู่ภายในของทุกคน คือ “ความว่าง” เราแค่พิจารณาให้เห็นธรรมชาติและสัจธรรมภายใน ขันธ์ทั้ง 5 ไม่ใช่เรา ปล่อยสู่ความว่าง

" ..สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นมีมาก แต่ที่พระพุทธองค์นำมาสอนแค่ “ใบไม้กำมือเดียว” คือ เรื่องความทุกข์ กับเรื่องความดับทุกข์เท่านั้น วิธีการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ หรือเป็นไปเพื่อการรู้แจ้ง จนกระทั่ง “บรรลุธรรม” นั้น ในทางเถรวาทแบ่งเป็น 2 วิธี คือ เจโตวิมุตติ และ ปัญญาวิมุตติ โดยอาศัยองค์ฌาน และ วิปัสสนา จนกระทั่งผู้เขียนได้ศึกษาสักพักใหญ่ถึงได้รู้ว่าโลกนี้มีอีกแนวทางแห่งการบรรลุธรรมโดยไม่ต้องอาศัยตัวหนังสือหรือคำพูดเลย นั่นคือ ” ที่ทุกสิ่งเป็นเพียง “ความว่าง”.."

ดวงตาเห็นธรรม
"ดวงตาเห็นธรรมนั้นคือดวงตาเห็นอะไร คือดวงตาเห็นสิ่งใดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นเบื้องต้น ความแปรไปเป็นท่ามกลาง ความดับเป็นที่สุด สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็คือทั้งหมดจะเป็นรูปก็ช่าง จะเป็นนามก็ตาม สิ่งใดสิ่งหนึ่งครอบรวมเลยทีเดียวได้แก่ ธรรมชาติทั้งหมดเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะเป็นรูปธรรมก็ช่าง จะเป็นนามธรรมก็ตาม เกิดขึ้นแล้วก็แปรดับไป อย่างตัวสกลร่างกายของเราก็เหมือนกัน มันเกิดแล้วก็แปรไปตามธรรมดาของมันแล้วมันก็ดับไป" หลวงปู่ชา

ทำไมคนสมัยพุทธกาล “บรรลุธรรม” กันง่ายจัง ?

ดังที่หลวงพ่อชากล่าวไว้ด้านบน ว่า ถ้าเราปฏิบัติตามศีล และไม่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นเราจึงเข้าถึงธรรม หลายคนอาจจะมีความคิดว่า ทำไมคนสมัยพุทธกาลถึงบรรลุธรรมกันง่ายจัง ยกตัวอย่างเช่น นางวิสาขา ได้รับฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้าเมื่ออายุเพียง 7 ขวบ ก็มีดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบัน หรือแม้กระทั่งพระสารีบุตร ที่ได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น” ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม

หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านเองก็ “พลาด” ที่ถามคำถามนี้กับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จนโดนดุเอา เพราะฉะนั้นใครที่คิดว่าคนสมัยก่อนบรรลุธรรมกันง่ายจัง แล้วตัวเราเองฝึกปฏิบัติแทบตายยังไม่ถึงไหนเลย ลองอ่านที่หลวงปู่มั่น ท่านเทศนาหลวงปู่ขาว

“.. ครั้งพุทธกาล ที่ท่านทำความเพียรด้วยความจริงจังหวังพ้นทุกข์จริงๆ กับสมัยที่พวกเราทำเล่นราวกับตุ๊กตาจึงนำมาเทียบกันไม่ได้ .. ขนาดที่พวกเราทำความเพียรแบบกระดูกจะหลุดออกจากกัน เพราะความขี้เกียจอ่อนแออยู่เวลานี้ ผมเข้าใจว่าเหมือนคนที่แสนโง่และแสนขี้เกียจ เอาสิ่งอันเล็กๆ น้อยๆ เท่านิ้วมือ ไปเจาะภูเขาทั้งลูก แต่หวังให้ภูเขานั้นทะลุในวันเวลาเดียว … คนสมัยนี้ เพียงใช้ฝ่ามือแตะมหาสมุทร ทำความเพียรเพียงเล็กน้อย แต่หมายมั่นปั้นมือ ว่าจะข้ามโลกสงสาร เมื่อไม่ได้ตามใจหวังก็หาเรื่องตำหนิศาสนาและกาลสถานที่ ตลอดจนคนสมัยนั้นสมัยนี้ไม่ละอาย..”

พระอริยบุคคล ลำดับดังนี้
1.โสดาบัน
โสดาบัน แปลว่า ผู้แรกถึงกระแสธรรม (แห่งพระนิพพาน) หรือ ผู้ที่มี "ดวงตาเห็นธรรม" ถือเป็นอริยบุคคลระดับแรกใน ๔ ระดับ คือ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์

การละสังโยชน์
โสดาบัน ละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการคือ
1.สักกายทิฏฐิ (กา-ยะ-) คือ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตนเป็นอัตตาทิฎฐิ เช่น เห็นรูปเป็นตน เห็นเวทนาเป็นตน
2.วิจิกิจฉา (กิด-) คือ ความสงสัยในพระรัตนตรัย และในกุศลธรรมทั้งหลาย
3.สีลัพพตปรามาส (ลับ-พะ-ตะ-ปะ-รา-มาด) คือ ความยึดมั่นในข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ที่เข้าใจว่าเป็นข้อปฏิบัติที่บริสุทธิ์หลุดพ้น เป็นมิจฉาทิฏฐิ เช่น การประพฤติวัตรอย่างโค การนอนบนหนามของพวกโยคี เป็นต้น

การบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลมิได้จำกัดอยู่เฉพาะเพศบรรพชิต (นักบวช) เท่านั้น แม้แต่คฤหัสถ์ก็สามารถบรรลุเป็นอริยบุคคลได้ ผู้บรรลุโสดาบันที่มีชื่อเสียงก็มีจำนวนมากได้แก่ นางวิสาขามหาอุบาสิกา อนาถบิณฑิกเศรษฐี พระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น

ประเภท โสดาบัน แบ่งเป็น ๓ ประเภท ดังนี้
1.เอกพีชี (เอ-กะ-) ผู้มีพืชคืออัตตภาพอันเดียว ก็จะบรรลุเป็นอรหันต์
2.โกลังโกละ ผู้ไปจากสกุลสู่สกุล คือจะมาเกิดอีกเพียง ๒-๓ ชาติเท่านั้น แล้วจะได้สำเร็จเป็นอรหันต์
3.สัตตักขัตตุงปรมะ (ปะ-ระ-) ผู้มีเจ็ดครั้งเป็นอย่างยิ่ง คือจะต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ก็จะได้บรรลุธรรมเป็นอรหันต์ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

การที่โสดาบันแบ่งเป็น ๓ ประเภท ดังที่เพราะว่าอินทรีย์ ๕ ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สมาธิ สติ และปัญญา แก่กล้าแตกต่างกัน ผู้ที่อินทรีย์ ๕ ถึงความแก่รอบสม่ำเสมอ ก็สามารถบรรลุผลได้อย่างรวดเร็ว โสดาบันประเภทนี้เอกพีชีโสดาบัน

ตัวอย่างบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลในพุทธกาล
นางวิสาขา
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
นางสิริมา
พระนางสามาวดี
พระเจ้าพิมพิสาร

สำหรับขั้นตอนที่เราจะเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าคืออรหัตผล องค์สมเด็จพระทศพลทรงจัดไว้เป็น ๔ ขั้นตอน คือ
1.อย่างเบาเรียกว่า พระโสดาบัน
2.กิเลสบางไปนิด เรียกว่า พระสกิทาคามี
3.จัดว่าเป็นอันดับสำคัญ ตัดโลกีย์วิสัยได้ เรียกว่า พระอนาคามี
4.ตัดกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉทปหาน เรียกว่า พระอรหันต์

ที่มาเนื้อหาข้อความ คือ ธรรมระรื่น /พระราชพรหมยาน หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ

Комментарии

Информация по комментариям в разработке