กฏแห่งกรรม เรื่อง ความหมายคำว่า บุญ กรรม กุศล

Описание к видео กฏแห่งกรรม เรื่อง ความหมายคำว่า บุญ กรรม กุศล

#vihantaweesak#กฏแห่งกรรม#บุญ#กุศล# กฏแห่งกรรม เรื่อง ความหมายคำว่า บุญ กรรม กุศล ความหมายของคำว่า "บุญ" ผู้ที่เชื่อเรื่องของกรรม คือการกระทำ เชื่อผลของกรรมว่า กรรมดีนั้น ย่อมมีผลตอบสนองดี คือความสุขความสวัสดีแก่ผู้กระทำ กรรมชั่วมีผลตอบสนองในด้านที่ไม่ดีแก่ผู้กระทำ คือ ความทุกข์ความเดือดร้อน ย่อมเป็นผู้รู้จักหลีกเลี่ยงการทำกรรมชั่ว ขวนขวายทำกรรมดี กรรมดี ก็คือบุญ นั่นเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีศรัทธา พร้อมทั้งมีความรู้ถูกต้องในเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว ย่อมรู้จักทำสิ่งที่เป็นบุญ “บุญ” เป็นธรรมชาติฝ่ายตรงข้ามกับ”บาป” มิใช่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับ”กรรม” ผู้ที่ไม่ได้เรียน ไม่ได้สดับฟังเรื่องบุญ ก็จะเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าบุญไขว้เขว คำว่า “บุญ” ก็เข้าใจไปอย่างหนึ่ง คำว่า “กรรม” ก็เข้าใจไปอย่างหนึ่ง คำว่า “กรรม” ก็เข้าใจไปอย่างหนึ่ง คือ เข้าใจว่า ถ้าเป็นการทำไม่ดีแล้วก็เรียกว่า “กรรม” ถ้าเป็นการทำดีจึงจะเรียกว่า “บุญ” จึงมักพูดคู่กันไปว่า “บุญกรรม” หรือ “แล้วแต่บุญแต่กรรม” อย่างนี้ เป็นต้น ทำให้คนฟันหรือคนอ่านได้ยินหรือไปเห็นข้อเห็นเช่นนี้ ก็มักเข้าใจผิดว่า บุญเป็นฝ่ายดี ส่วนกรรมเป็นฝ่ายชั่ว เกิดความเข้าใจผิดแน่ชัดยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อมีการกล่าวแยกกันเป็นแต่ละอย่าง คือ เวลาพูดถึงกรรมอย่างเดียว จะพูดถึงในด้านที่ไม่ดีแน่นอน เช่นว่า “คนนั้นทำกรรมเอาไว้มาก เวลานี้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน นั่นเป็นเพราะกรรมตามสนอง” แต่เวลาพูดถึงสิ่งที่ทำให้คนนั้นคนนี้มีความสุขความสวัสดี จะพูดถึงแต่บุญเดียวว่า “เขาเป็นคนมีบุญเสียจริงหนอ” อย่างนี้ เป็นต้น
นี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นชัดว่า..... แม้แต่ชื่อ แม้แต่ศัพท์ ก็ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง บุญนั้นหาได้คู่กับกรรมไม่ บุญมาคู่กับบาปต่างหาก ส่วนกรรมคือการกระทำเป็นคำกลางๆ ดีก็ได้ ถ้าการกระทำนั้นดี เป็นกรรมดี ก็เรียกว่า “กุศลกรรม” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “บุญ” ให้ผลเป็นสุข ถ้าการกระทำนั้นไม่ดีหรือชั่ว เป็นกรรมชั่ว ก็เรียกว่า “อกุศลกรรม” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “บาป” ให้ผลเป็นทุกข์เพราะฉะนั้น บุญก็คือกรรมดีนั่นเอง ส่วนบาปคือกรรมชั่ว
เรื่องเกี่ยวกับบุญ ยังมีการเข้าใจผิดไปอีกประการหนึ่งว่า ถ้าหากได้ให้แก่คนที่น่าเคารพน่าบูชา เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือพระภิกษุสงฆ์ จึงจะเรียกว่า “บุญ” แต่ถ้าหากเป็นการให้แก่คนทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่เป็นคนที่น่าเคารพน่าบูชาหรือน่าสรรเสริญ เช่น ให้แก่คนขอทาน เป็นต้น ก็จะเรียกว่า “ทาน” แสดงว่ามีความเข้าใจว่า บุญก็อย่างหนึ่ง ทานก็อย่างหนึ่ง นี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า คนไทยผู้นับถือพระพุทธศาสนา แม้ประสงค์จะทำบุญ... หลีกเลี่ยงบาป แต่ก็หาได้รู้จักบุญ-บาปเท่าที่ควรไม่ การที่พูดว่า “อย่าคิดแต่ทำบุญอย่างเดียวเลย โปรดคิดทำทานด้วยเถิดคนที่ยากไร้อนาถารอรับการช่วยเหลือยังมีอยู่มากมาย” อย่างนี้เป็นต้นนั้น แสดงว่าคนพูดเข้าใจว่า ทานเป็นคนละอย่างกับบุญแน่ ๆ และทานเป็นของต่ำกว่าบุญ
ทานเป็นบุญอย่างหนึ่งแห่งบุญ 10 อย่าง
ในตำราทางพุทธศาสนา ท่านกล่าวว่า บุญมี 10 อย่าง ทานก็เป็นอย่างหนึ่งในบรรดาบุญ 10 อย่าง เพราะฉะนั้น ทานก็ไม่ได้แยกไปต่างหากจากบุญ เป็นเพียงประเภทหนึ่งของบุญเท่านั้น บุญยังมีมากกว่าทานอีก กล่าวคือ ศีลก็เป็นบุญ ภาวนาก็เป็นบุญ เพราะฉะนั้นจะพูดแยกได้อย่างไรว่า ถ้าหากให้แก่คนขอทานก็เรียกให้ทาน ถ้าถวายพระก็เรียกว่าทำบุญ
นอกจากจะไม่ทราบความหมายของบุญของทานแล้ว ก็ยังบอกให้ทราบถึงความเข้าใจผิดอีกประการหนึ่งว่า บุญนั้นเป็นเรื่องของการให้เท่านั้น ถ้าไม่มีอะไรจะให้ใคร โดยเฉพาะพระก็ไม่เรียกว่าเป็นการทำบุญ ความเข้าใจผิดเช่นนี้ไม่ทราบว่าได้มาจากไหน เห็นทีว่าคงจะได้มาจากพระภิกษุนั่นแหละ เพราะท่านมักสอนอย่างนี้ คือ เวลาสอนให้ฆราวาสทำบุญ ก็มักจะแนะนำให้เขาสละ ให้บริจาค ไม่ค่อยชี้แนะให้เขาบำเพ็ญบุญ ในด้านอื่นเลย เช่น ให้รักษาศีล อย่าฆ่าสัตว์ อย่าลักทรัพย์ เป็นต้น มีแต่เรียกร้องให้เขาสละและบริจาค บอกว่าอย่างนี้แหละเป็นการทำบุญ เป็นอันว่าไม่ถูกต้อง คนฟังก็พลอยได้ความรู้ที่ผิดๆ ไปด้วย

Комментарии

Информация по комментариям в разработке