ฎีกา InTrend EP.65 ทายาทของผู้ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. ที่ไม่ได้ไปใช้ที่ดินนั้นจะมี...

Описание к видео ฎีกา InTrend EP.65 ทายาทของผู้ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. ที่ไม่ได้ไปใช้ที่ดินนั้นจะมี...

ฎีกา InTrend EP.65 ทายาทของผู้ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. ที่ไม่ได้ไปใช้ที่ดินนั้นจะมีอำนาจฟ้องผู้ที่บุกรุกเข้าไปทำสวนได้หรือไม่

The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี

ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, อรวรานันท์ ธนาพันธ์วรากุล

Show Creator : นันทวัลย์ นุชนนทรี, ศณิฏา จารุภุมมิก
Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
Coordinator & Admin : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, โสรัตน์ ไวศยดำรง
Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์ ทศพร ศิลาบำเพ็ญ
Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์

ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นที่ดินที่มีอยู่ในทั่วทุกภาคส่วนของประเทศ โดยกฎหมายต้องการจัดสรรที่ดินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มักมีฐานะยากไร้ให้ได้มีโอกาสมีที่ทำกิน แต่การให้ใช้ที่ดินประเภทนี้ก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถโอนกันได้เว้นแต่จะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ในบางครั้งก็มีปัญหาการใช้ที่ดินในระหว่างผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. นี้ด้วยเช่นกัน ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้เป็นกรณีที่มีผู้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินที่อีกคนหนึ่งได้รับอนุญาตจาก ส.ป.ก. ทายาทของผู้ได้รับอนุญาตนั้นจะมีอำนาจฟ้องผู้ที่บุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ดังกล่าวได้หรือไม่

นายมีนาได้รับอนุญาตจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งมีเนื้อที่ดินประมาณ 26 ไร่ แต่ช่วงหลัง ๆ มา นายมีนาไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วเนื่องจากมีสุขภาพไม่ดี ต่อมานายมีนาได้ถึงแก่ความตาย นายมีนามีบุตรหนึ่งคนคือนายเมษา

ภายหลังจากนายมีนาเสียชีวิต นายเมษาได้เข้าไปตรวจดูและขอรังวัดที่ดิน ส.ป.ก. ที่นายมีนาได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์จึงพบว่ามีที่ดินส่วนหนึ่งประมาณ 4 ไร่ที่นายพฤษภาได้เข้าไปปลูกต้นยางพาราไว้

นายเมษาจึงได้มาฟ้องขับไล่นายพฤษภาให้ออกจากที่ดินที่พิพาทจำนวน 4 ไร่นั้น

นายพฤษภาต่อสู้อ้างว่านายเมษาไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เพราะนายมีนาไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นเวลานานแล้วจนตนเองไปปลูกต้นยางพาราไว้และนายมีนาไม่ได้ฟ้องเอาคืนการครอบครองจนเกิน 1 ปี นายพฤษภาจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว

ในกรณีที่ปกติของที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง หากมีผู้เข้าไปรบกวนการครอบครองของอีกบุคคลหนึ่ง ผู้ที่มีสิทธิครอบครองจะต้องฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ถูกรบกวนการครอบครอง

แต่ในกรณีนี้ที่ดินแปลงดังกล่าวที่พิพาทกันเป็นที่ดินที่ไม่ได้มีแต่สิทธิครอบครอง ตรงกันข้ามเป็นที่ดินที่มีกฎหมายคือพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 36 ทวิ ให้ ส.ป.ก. มีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินที่ได้มาตามกฎหมายดังกล่าว แต่ ส.ป.ก. อาจอนุญาตให้สิทธิแก่เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ เมื่อ ส.ป.ก. ได้อนุญาตให้นายมีนา นายมีนาจึงเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว

สิทธิในการทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. นี้กฎหมายกำหนดไว้ด้วยว่าอาจตกทอดทางมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมได้ ดังนั้น เมื่อนายเมษาเป็นทายาทของนายมีนา นายเมษาย่อมมีสิทธิได้รับมรดกสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวด้วย

แม้ก่อนที่นายมีนาจะถึงแก่ความตาย นายมีนาจะไม่ได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้นายมีนาเสียสิทธิเข้าทำประโยชน์ของตน การที่นายมีนาจะมีสิทธิอยู่หรือเสียสิทธิไปเป็นเรื่องระหว่าง ส.ป.ก. ผู้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์กับนายมีนาหรือทายาท ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์

การที่นายพฤษภาเข้าไปปลูกสวนยางพาราในเขตที่ดินที่นายมีนาได้รับอนุญาตจาก ส.ป.ก. จึงเป็นการรบกวนและโต้แย้งสิทธิของนายเมษาที่เป็นทายาทของนายมีนา นายเมษาจึงมีอำนาจฟ้องนายพฤษภาได้
ในส่วนที่นายพฤษภาอ้างว่าตนเองครอบครองที่ดินดังกล่าวมานานและนายมีนาไม่ได้ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปี นายมีนาจึงเสียสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวไปแล้ว เมื่อที่ดินที่พิพาทในเรื่องนี้เป็นที่ดินของ ส.ป.ก. ซึ่ง ส.ป.ก. มีกรรมสิทธิ์ จึงไม่อาจนำเรื่องสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ได้ เพราะกรณีดังกล่าวต้องเป็นกรณีของที่ดินที่ไม่มีกรรมสิทธิ์

การที่สมาชิกที่ได้รับอนุญาตจาก ส.ป.ก. จะมีสิทธิเพียงใดย่อมต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตจาก ส.ป.ก. เท่านั้น สมาชิกแต่ละคนไม่สามารถเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่คนอื่นได้รับอนุญาตจาก ส.ป.ก. แล้วอ้างเป็นสิทธิของตนได้เอง เพราะหากทำแบบนั้นได้ย่อมจะทำให้เกิดข้อพิพาทและความวุ่นวายระหว่างสมาชิกทั้งหลายที่อาจเข้าไปแย่งสิทธิซึ่งกันและกันได้ ดังนั้น แม้นายพฤษภาจะได้เข้าไปปลูกสวนยางพาราในที่ดินพิพาทก็ไม่ทำให้นายพฤษภาได้สิทธิครอบครองมา

สิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. อาจตกทอดแก่ทายาทได้ ทายาทจึงมีอำนาจฟ้องผู้ที่บุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินได้แม้ก่อนหน้านั้นตนจะไม่ได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเองก็ตาม ผู้ที่เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินที่อีกคนได้รับอนุญาตก็ไม่ได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองใด ๆ เพราะการจะมีสิทธิได้จะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตจาก ส.ป.ก. ที่มีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินนั้นเสียก่อน

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 808/2563)

Комментарии

Информация по комментариям в разработке