ฎีกา InTrend EP.62 สัญญากู้ระบุดอกเบี้ยร้อยละ 15 ผู้บริโภคนำสืบพยานบุคคลว่าดอกเบี้ยสูงกว่าที่...

Описание к видео ฎีกา InTrend EP.62 สัญญากู้ระบุดอกเบี้ยร้อยละ 15 ผู้บริโภคนำสืบพยานบุคคลว่าดอกเบี้ยสูงกว่าที่...

ฎีกา InTrend ep.62 สัญญากู้ระบุดอกเบี้ยร้อยละ 15 ผู้บริโภคนำสืบพยานบุคคลว่าดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดได้หรือไม่

The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี

ที่ปรึกษา : อัครพันธ์ สัปปพันธ์, อรวรานันท์ ธนาพันธ์วรากุล

Show Creator : นันทวัลย์ นุชนนทรี, ศณิฏา จารุภุมมิก
Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
Coordinator & Admin : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, โสรัตน์ ไวศยดำรง
Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์ ทศพร ศิลาบำเพ็ญ
Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์

ในยามจำเป็นบางครั้งเราอาจต้องหยิบยืมเงินทองจากคนอื่นบ้าง แต่ในการกู้ยืมเงินนี้กฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขคุ้มครองผู้กู้ไว้ด้วยว่าผู้ให้กู้จะเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติมักมีการให้กู้ยืมแล้วเรียกดอกเบี้ยสูงกว่านั้นอยู่เสมอ ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่ผู้กู้อ้างว่าเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ที่กฎหมายกำหนด ผู้กู้ซึ่งเป็นผู้บริโภคจะนำสืบพยานบุคคลเพื่อแก้ไขอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในสัญญากู้ได้หรือไม่
นายกุ้งเดือดร้อนมีความจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนจึงได้ไปขอกู้ยืมเงินจากนายปลา โดยนายกุ้งลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญากู้และกรอกข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวนายกุ้งให้ไว้ นายปลานำสัญญาดังกล่าวไปกรอกเองว่าให้กู้ยืมเงิน 150,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่นายปลาได้ให้เงินนายกุ้งไปเพียง 80,000 บาท โดยบอกว่าให้กู้ 100,000 บาท แต่หักดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือนไว้สองเดือน
นายกุ้งผ่อนชำระเงินคืนให้นายปลาเดือนละ 7,000 บาทบ้าง 8,000 บาทบ้างเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปี ต่อมานายกุ้งไม่มีเงินไปชำระให้นายปลา นายปลาจึงฟ้องนายกุ้งเป็นจำเลยเรียกให้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้าง
ในการสืบพยานนายกุ้งเบิกความว่าตนเองได้รับเงินเพียง 80,000 บาทและนายปลาคิดดอกเบี้ยจริงร้อยละ 10 ต่อเดือน นายปลาเบิกความรับว่าในวันทำสัญญาให้เงินไปเพียง 80,000 บาท แต่อีกสัปดาห์หนึ่งถัดมาให้เงินนายกุ้งไปอีก 70,000 บาท เหตุที่ตนต้องคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือนเพราะต้องไปยืมเงินคนอื่นมาให้นายกุ้งและตนต้องเสียดอกเบี้ยในอัตรานั้น
ตามกฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้เงินให้กู้ยืมคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี หากคิดดอกเบี้ยเกินอัตราดังกล่าวจะทำให้ข้อตกลงคิดดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475
ปัญหาสำคัญคงเป็นกรณีที่สัญญากำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าตกลงกู้กัน 150,000 บาท และระบุอัตราดอกเบี้ยไว้เพียงร้อยละ 15 ต่อปีซึ่งไม่เกินที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้นายกุ้งที่เป็นผู้บริโภคในการกู้ยืมเงินจะนำสืบด้วยพยานบุคคลแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วจำนวนเงินที่กู้น้อยกว่าที่ระบุและมีการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดได้หรือไม่
ตามปกติกรณีการทำสัญญากู้ กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ด้วย กรณีสัญญาลักษณะนี้หากหนังสือที่ทำกำหนดรายละเอียดไว้อย่างไร จะนำพยานบุคคลมานำสืบให้เห็นว่าความจริงแล้วสัญญาที่ทำขึ้นแตกต่างจากที่ระบุไว้ในหนังสือนั้นไม่ได้
อย่างไรก็ตาม กรณีเป็นคดีผู้บริโภคที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 10 กำหนดไว้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดให้การทำนิติกรรมต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือนั้นไม่ให้นำไปใช้กับ “ผู้บริโภคในการฟ้องร้องบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจชำระหนี้” และในการดำเนินคดีไม่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ห้ามไม่ให้นำพยานบุคคลมาสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในหนังสือสัญญามาใช้กับคดีที่ผู้บริโภคฟ้อง
ประเด็นปัญหาคงอยู่ที่ข้อความในกฎหมายบอกว่ากรณีดังกล่าว “มิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้บริโภคในการฟ้องร้องบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจชำระหนี้” ซึ่งตามปกติหมายถึงกรณีที่ผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้อง แต่กรณีนี้นายกุ้งเป็นจำเลย แต่ศาลเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งคุ้มครองผู้บริโภคจึงอาจใช้ในกรณีที่ผู้บริโภคเป็นจำเลยด้วย ทำให้ผู้บริโภคมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบให้เห็นว่าความจริงแล้วสัญญาที่ทำกันแตกต่างจากข้อความในหนังสือได้
เมื่อกรณีนี้ปรากฎจากคำเบิกความของนายกุ้งและที่นายปลาตอบคำถามว่าความจริงแล้วมีการให้เงินในวันกู้เพียง 80,000 บาทและคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน จึงต้องถือว่าสัญญากู้รายนี้มีเนื้อความตามที่ปรากฏ ส่วนที่นายปลาอ้างว่าให้เงินภายหลัง นายปลาก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ มาแสดง และการไปกู้ยืมคนอื่นมาแล้วต้องเสียดอกเบี้ยอัตราสูงก็ไม่ใช่ข้ออ้างเช่นกัน
การที่นายกุ้งชำระเงินไปเกินจากยอดหนี้ที่ควรจะเป็นจึงไม่ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจหรือชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ต้องนำเงินที่ชำระมาหักคิดจากเงินที่ต้องคืนนายปลา ซึ่งปรากฎว่าจำนวนเงินที่ชำระไปแล้วเกินยอดหนี้ที่ควรจะเป็นตามกฎหมาย นายกุ้งจึงไม่มีหนี้ที่ต้องชำระอีก
ในกรณีนี้คงสรุปได้ว่าแม้สัญญากู้จะเป็นสัญญาที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือ แต่หากข้อตกลงที่แท้จริงต่างจากข้อความในสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบให้เห็นถึงข้อตกลงที่แท้จริงในคดีที่ตนถูกฟ้องเป็นจำเลยได้โดยไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 96/2563)

Комментарии

Информация по комментариям в разработке