ฎีกา InTrend EP.3 แอบโอนสินสมรส

Описание к видео ฎีกา InTrend EP.3 แอบโอนสินสมรส

ฎีกา intrend ep.3 แอบโอนสินสมรส
นายสรวิศ ลิมปรังษี

The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี

ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, จีรวรรณ เจริญยศ

Show Creator : นันทวัลย์ นุชนนทรี, ศณิฏา จารุภุมมิก
Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
Coordinator & Admin : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, โสรัตน์ ไวศยดำรง
Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์ ทศพร ศิลาบำเพ็ญ
Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์

เรื่องราวเกี่ยวกับสินสมรสเป็นเรื่องที่มีปัญหาเกิดขึ้นได้เสมอหากคู่สามีภริยามีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างกัน หากทั้งสองคนอยู่กันแบบรักใคร่กันดี ปกติแล้วปัญหาเหล่านี้มักจะไม่เกิดขึ้น แต่ปัญหาเมื่อเกิดขึ้นแล้วมักจะเกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้องหรือเกิดส่วนได้เสียจากทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสขึ้น ทำให้มีปัญหาตามมาว่าสิทธิของบุคคลภายนอกจะเป็นอย่างไรเมื่อไปทำธุรกรรมที่ทำให้ได้สินสมรสอย่างหนึ่งไปโดยคู่สมรสอีกฝ่ายไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่ได้ให้ความยินยอมด้วย
นายศุกร์กับนางเสาร์เป็นสามีภรรยากัน แต่งงานอยู่กันกันมานาน แต่ต่อมาทั้งสองคนเริ่มมีเรื่องระหองระแหงกันเป็นระยะด้วยสาเหตุต่าง ๆ นานา ตามประสาของคนที่พอเริ่มมีเรื่องไม่พอใจกันแล้ว แม้แต่เรื่องเล็กเรื่องน้อยก็กลายเป็นปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งสองคนทำมาหากินมีทรัพย์สินหลายอย่าง โดยเฉพาะที่ดินแปลงหนึ่งที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีมีราคาพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ตามความเจริญของพื้นที่รอบข้าง ต่อมานายศุกร์ได้ทำสัญญาขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายเสือ ในราคา 19 ล้าน บาท โดยที่นางเสาร์ ภรรยา ไม่รู้ระแคะระคายเกี่ยวกับการซื้อขายรายนี้ ต่อมาเมื่อนางเสาร์ รู้เรื่องเข้าจึงได้ฟ้องนายศุกร์และนายเสือเพื่อขอให้เพิกถอนการซื้อขายรายนี้ ด้วยเหตุที่ทำการซื้อขายที่ดินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์โดยที่นางเสาร์ไม่ได้ให้ความยินยอม
ตามปกติ หากเป็นสินสมรสที่เป็น “อสังหาริมทรัพย์” อย่างเช่น ที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม แล้วถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มักมีราคาค่างวดมาก การจะทำอะไรที่เป็นการทำให้สิทธิที่มีอยู่อาจเสียไปอย่างเช่น การขาย จะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย ถ้าหากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งขายที่ดินไปอย่างเช่นในกรณีที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่นี้โดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสฝ่ายที่ไม่รู้ไม่เห็นด้วยมีสิทธิที่จะขอให้ศาลเพิกถอนธุรกรรมดังกล่าวได้
ในส่วนของบุคคลภายนอกที่ได้ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสไปโดยที่ไม่มีการให้ความยินยอมโดยชอบนี้จะได้รับความคุ้มครองก็ต่อเมื่อภายหลังจากทำธุรกรรมแล้วคู่สมรสที่ไม่รู้เรื่องนั้นมาให้สัตยบันรับรองการทำนิติกรรมการขายนั้นในภายหลังให้ หรือมิฉะนั้นก็ต้องเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกนั้นได้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
ในกรณีของนายเสือนี้ นายเสือจ่ายเงินไป 19 ล้านเพื่อซื้อที่ดินแปลงนี้จากนายศุกร์ จึงถือว่านายเสือได้ “เสียค่าตอบแทน” ตามราคาที่ดินที่เสียไปนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะถือได้หรือไม่ว่านายเสือกระทำการ “โดยสุจริต” ซึ่งจะถือว่านายเสือทำโดยสุจริตได้ต่อเมื่อนายเสือไม่รู้ถึงการที่ที่ดินนั้นเป็นสินสมรสหรือไม่รู้ว่านางเสาร์ ภรรยานายศุกร์ไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย แต่ถ้าหากพอถือได้ว่านายเสือรู้ว่าที่ดินนั้นเป็นสินสมรสหรือรู้ว่านางเสาร์ไม่ได้ให้ความยินยอมด้วยแล้ว ย่อมต้องถือว่านายเสือกระทำการ “โดยไม่สุจริต” และการซื้อขายระหว่างนายเสือกับนายศุกร์จะต้องถูกเพิกถอน
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏนายเสือย่อมจะรู้อยู่แล้วว่าการซื้อขายรายนี้ไม่มีความยินยอมจากนางเสาร์ เพราะตอนไปทำการโอนนางเสาร์ก็ไม่ได้ไปด้วย และไม่ได้ลงชื่อในเอกสารให้ความยินยอมใด ๆ มาแสดง แถมพอเจ้าพนักงานที่ดินถามนายศุกร์ก็บอกว่าภรรยาตนเองไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถทำการงานอะไรได้
ยิ่งไปกว่านั้น นายเสือเองก็บอกว่าเคยไปตรวจสอบที่ดินที่จะโอนก่อนแล้ว รู้ว่ามีบ้านที่นางเสาร์กับบุตรพักอาศัยอยู่ด้วย นายเสือพยายามจะอ้างว่าตนเองตรวจสอบแล้ว แต่เข้าใจไปว่าที่ดินที่จะซื้อนั้นเป็น “สินส่วนตัว” ของนายศุกร์ เพราะเชื่อที่นายศุกร์อ้างว่าเป็นที่ดินที่ได้มาตั้งแต่ก่อนแต่งงานกับนางเสาร์แล้ว แต่ข้อที่นายเสืออ้างจะเห็นได้ว่าขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏเพราะในสารบบที่ดินที่นายเสือไปตรวจดูก็ปรากฏอยู่แล้วว่าในการทำนิติกรรมครั้งก่อน ๆ เกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้นก็มีชื่อนางเสาร์มาให้ความยินยอมโดยตลอด ตอนที่เจ้าพนักงานที่ดินถามนายศุกร์ นายศุกร์ก็บอกเพียงว่าภรรยาป่วย ถ้าหากที่ดินแปลงนั้นเป็นสินส่วนตัวของนายศุกร์ที่โอนได้โดยไม่ต้องขอความยินยอม นายศุกร์ก็คงบอกไปแบบนั้นแล้ว สิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏย่อมแสดงให้เห็นได้ว่า นายเสือรู้อยู่แล้วว่าที่ดินแปลงนี้เป็น “สินสมรส” ระหว่างนายศุกร์กับนางเสาร์ และการซื้อขายรายนี้ทำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางเสาร์ การซื้อขายของนายเสือจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง เพราะไม่ถือว่านายเสือกระทำการ “โดยสุจริต”
สินสมรสถือว่าเป็นทรัพย์สินที่คู่สามีภรรยาทำมาหาได้ร่วมกันแม้ว่าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งอาจเป็นคนทำงานสร้างรายได้ อีกคนหนึ่งทำงานบ้านดูแลครอบครัวก็ตาม ดังนั้น หากเป็นสินสมรสที่สำคัญอย่างเช่น ที่ดิน บ้านหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ แล้วจะขายหรือจำหน่ายจ่ายโอนให้บุคคลอื่นต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก่อน มิฉะนั้นการซื้อขายหรือการโอนนั้นอาจถูกเพิกถอนเสียได้

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6286/2562)

Комментарии

Информация по комментариям в разработке