ฎีกา InTrend EP.14 ค้ำประกันด้วยกัน ใช้หนี้แล้วจะเรียกจากผู้ค้ำประกันอีกคนได้หรือไม่

Описание к видео ฎีกา InTrend EP.14 ค้ำประกันด้วยกัน ใช้หนี้แล้วจะเรียกจากผู้ค้ำประกันอีกคนได้หรือไม่

ฎีกา InTrend ep.14 ค้ำประกันด้วยกัน ใช้หนี้แล้วจะเรียกจากผู้ค้ำประกันอีกคนได้หรือไม่

The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี

ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, จีรวรรณ เจริญยศ

Show Creator : นันทวัลย์ นุชนนทรี, ศณิฏา จารุภุมมิก
Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
Coordinator & Admin : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, โสรัตน์ ไวศยดำรง
Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์ ทศพร ศิลาบำเพ็ญ

Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์


ในการค้ำประกันหนี้ทั้งหลาย บางครั้งเจ้าหนี้อาจจะเรียกให้ลูกหนี้ต้องหาผู้ค้ำประกันมามากกว่าหนึ่งคน เพราะความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันคนเดียวอาจไม่พอ แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อมาคือ หากผู้ค้ำประกันคนหนึ่งได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ไปแล้ว ผู้ค้ำประกันที่ชำระหนี้ไปจะมีสิทธิอย่างไรบ้างต่อผู้ค้ำประกันอีกคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเรียกให้ผู้ค้ำประกันอีกคนหนึ่งนั้นชำระหนี้ให้แก่ตนได้หรือไม่
อุทัยไปติดต่อขอสินเชื่อเงินกู้จากธนาคารแห่งหนึ่ง จำนวน 2,500,000 บาท ธนาคารกำหนดให้อุทัยต้องหาผู้ค้ำประกันมาค้ำประกันหนี้รายนี้ด้วยจึงจะตกลงให้กู้ อุทัยจึงได้ติดต่อสมศักดิ์มาเป็นผู้ค้ำประกัน แต่ธนาคารแจ้งว่าสมศักดิ์คนเดียวมีสถานะทางการเงินไม่พอที่จะค้ำประกันหนี้ทั้งหมดได้ ให้อุทัยไปหาผู้ค้ำประกันเพิ่ม อุทัยจึงได้ติดต่อสมศรีมาเป็นผู้ค้ำประกันด้วยอีกคนหนึ่ง ธนาคารจึงตกลงให้อุทัยกู้ยืมเงินได้ โดยให้สมศักดิ์และสมศรีทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้ด้วยเป็นสัญญาคนละฉบับกัน ต่อมาอุทัยผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารจึงได้เรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ด้วยความที่เกรงว่าภาระดอกเบี้ยจะสูงขึ้นไปมากหากชำระหนี้ล่าช้า สมศรีจึงได้นำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารรวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 3,000,000 บาท จากนั้นสมศรีจึงได้ฟ้องอุทัยและสมศักดิ์ให้ร่วมกันชำระหนี้เป็นจำนวนเงินทั้งหมดที่ตนได้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารไปก่อน
การที่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไปตามสัญญาที่ตัวเองทำไว้นั้นเป็นหนี้หรือหน้าที่ปกติของผู้ค้ำประกันที่ตกลงไว้ เพราะการมีผู้ค้ำประกันก็เพื่อประโยชน์ในยามที่ลูกหนี้ผิดนัดขึ้นมา เมื่อชำระหนี้ไปแล้ว ผู้ค้ำประกันย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่เป็นคนทำสัญญากู้ยืมชดใช้เงินทั้งหมดคืนให้แก่ตนเองพร้อมดอกเบี้ยได้ ซึ่งก็เป็นสิทธิตามปกติของผู้ค้ำประกันอีกเช่นกัน เพราะคนที่ยืมเงินไปจากเจ้าหนี้ก็คือตัวลูกหนี้ที่ไปขอกู้ เมื่อมีคนยอมไปจ่ายเงินให้แทนตนก็ต้องมีหน้าที่ต้องชดใช้คืนให้แก่ผู้ค้ำประกันที่ชำระหนี้ไปด้วยเช่นกัน สิทธินี้เรียกว่า “สิทธิไล่เบี้ย” ในส่วนของอุทัยคงไม่มีข้อโต้แย้งอะไรที่จะมาปฏิเสธหน้าที่ส่วนนี้ได้
ปัญหาของกรณีนี้คงเป็นในส่วนของ “สมศักดิ์” ที่เป็นผู้ค้ำประกันด้วยอีกคนหนึ่งว่าเมื่อสมศรีที่ก็เป็นผู้ค้ำประกันเหมือนกับสมศักดิ์ได้ชำระหนี้ไป ในระหว่างสมศรีกับสมศักดิ์จะมีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไรในระหว่างกันได้หรือไม่
การที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ไปนี้ สิทธิที่ผู้ค้ำประกันอย่างเช่นสมศรีได้มาประการหนึ่งคือการ “รับช่วงสิทธิ” ที่เป็นสิทธิเดิมที่เจ้าหนี้เคยมีอยู่กับตัวลูกหนี้ เมื่อผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก็จะสามารถเข้าไปรับช่วงสิทธิที่เจ้าหนี้เคยมีอยู่โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับบรรดาหลักประกันต่าง ๆ ที่เจ้าหนี้เคยมีอยู่ได้ โดยผู้ค้ำประกันอาจมีสิทธิดำเนินการบังคับเกี่ยวกับหลักประกันเหล่านั้นได้เท่าที่จะสามารถทำได้ สิทธิที่จะเรียกร้องต่อผู้ค้ำประกันก็เป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่เจ้าหนี้เคยมีอยู่ ดังนั้น สมศรีซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันที่ชำระหนี้ไปก็ได้รับช่วงสิทธินี้มาด้วย แต่อาจจะไม่ได้ทั้งหมด
ในกรณีนี้สมศรีกับสมศักดิ์ต่างเป็นผู้ค้ำประกัน และทำสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่แยกกันสองฉบับ แต่ในแง่กฎหมายแล้ว แม้ผู้ค้ำประกันสองรายหรือมากกว่านั้นจะเข้าทำสัญญาหนี้รายเดียวกันคนละโอกาสหรือคนละคราวกันก็ตาม แต่ก็ถือว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีสถานะเป็น “ลูกหนี้ร่วม” กัน ซึ่งตามปกติแล้วมีผลที่สำคัญคือเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ทั้งหมดเลยก็ย่อมได้หากไม่เกินวงเงินค้ำประกัน ไม่ได้ต้องแบ่งแยกว่าจะเรียกจากผู้ค้ำประกันคนหนึ่งได้เฉพาะตามอัตราส่วนใด ๆ
ในระหว่างคนที่เป็น “ลูกหนี้ร่วม” กันนี้ จะมีความรับผิดของแต่ละคนมากน้อยเพียงใดก็ย่อมเป็นเรื่องที่จะตกลงกัน แต่หากไม่ได้มีการตกลงกัน โดยเฉพาะกรณีของสมศักดิ์และสมศรีนี้ที่ต่างคนต่างทำสัญญาค้ำประกันคนละฉบับกัน ตามกฎหมายถือว่าในระหว่างคนที่เป็นลูกหนี้ร่วมนี้ตกลงรับผิดเป็นส่วน ๆ เท่า ๆ กัน เท่ากับว่าสมศักดิ์กับสมศรีแบ่งแยกความรับผิดกันคนละครึ่ง แม้สมศรีจะได้รับช่วงสิทธิจากเจ้าหนี้ที่จะมาเรียกร้องจากผู้ค้ำประกันได้ แต่ด้วยความที่ระหว่างกันเองอาจแบ่งแยกความรับผิดได้เป็นส่วนคนละครึ่ง สมศรีจึงมีสิทธิเรียกร้องจากสมศักดิ์ได้เพียงครึ่งหนึ่งหรือในยอดเงิน 1,500,000 บาท เท่านั้น
การเป็นผู้ค้ำประกันนั้นเมื่อมาร่วมหัวจมท้ายร่วมกันเป็นประกันให้กับเจ้าหนี้ เมื่อผู้ค้ำประกันรายหนึ่งชำระหนี้ไป ผู้ค้ำประกันคนอื่นคงต้องร่วมแบ่งเบาภาระนั้นด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ค้ำประกันไปหาทางเอาเงินคืนจากลูกหนี้แต่อย่างเดียว เพราะโดยสภาพหากลูกหนี้มีเงินหรือทรัพย์สินมากพอก็คงไม่ผิดนัดชำระหนี้แต่แรก แต่การแบ่งเบานี้ถ้าไม่มีข้อตกลงอะไรกันเป็นพิเศษก็คงเป็นการช่วยรับผิดกันแบบ “คนละครึ่ง”

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7028/2562)

Комментарии

Информация по комментариям в разработке